ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หลายประเทศต่างพยายามจับจ้องหาลู่ทางลงทุนในพม่า โดยมีจีน ญี่ปุ่น และไทยเป็นหัวขบวน


นายก รมต.ญี่ปุ่น Shinzo Abe ประกาศระหว่างการเดินทางเยือนพม่า ว่าจะยกหนี้ให้พม่ามูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านดอลล่าร์และสัญญาว่าจะมอบเงินช่วยเหลือก้อนใหม่ให้แก่พม่า ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าท่าทีล่าสุดของญี่ปุ่นคือหนึ่งในความพยายามแข่งขันกับจีนทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการขยายอิทธิพลทางการเมืองในเอเชีย

การเยือนพม่าของนายกฯ Shinzo Abe ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 36 ปีที่นายกฯญี่ปุ่นเดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ โดยในวันอาทิตย์ นายกฯ Abe ได้ประกาศยกหนี้มูลค่า 1,740 ล้านดอลล่าร์ให้แก่พม่า และยังรับปากว่าจะให้พม่ากู้ยืมเงินกว่า 500 ล้านดอลล่าร์เพื่อลงทุนในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคและผลิตไฟฟ้า ซึ่งก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเคยยกหนี้ให้แก่พม่ามาแล้วกว่า 3,500 ล้านดอลล่าร์

ศาสตราจารย์ Sean Turnell แห่ง Macquarie University ในนครซิดนีย์ ระบุว่าญี่ปุ่นยกหนี้ให้พม่าเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนของตัวเอง เนื่องจากมีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากที่ต้องการลงทุนกับโครงการในพม่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองรวมอยู่ด้วย และว่าญี่ปุ่นก็เหมือนอีกหลายประเทศที่กังวลว่าพม่ากำลังถูกดึงเข้าไปใต้ปีกของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และดังที่ทราบกันดีว่าจีนกับญี่ปุ่นยังคงมีความขัดแย้งในหลายๆด้าน

เงินกู้ก้อนใหม่ที่ญี่ปุ่นจะให้แก่พม่านั้นจะถูกนำไปลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าที่เขตอุตสาหกรรมพิเศษ Thillawa ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นที่นักวิเคราะห์ต่างเชื่อกันว่าจะส่งผลกระทบมากมายต่อเศรษฐกิจพม่า ถึงกระนั้นหากเทียบจากเม็ดเงินลงทุนในพม่า เห็นได้ชัดเจนว่าญี่ปุ่นยังตามหลังจีนอยู่ไกล

ที่ผ่านมาจีนเน้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้านทรพยากรในพม่า เช่นโครงการสร้างเขื่อน ทำเหมืองแร่ สร้างท่อก๊าซและท่อน้ำมัน ตั้งแต่ภาคตะวันตกของพม่าไปจรดชายแดนภาคเหนือของพม่าติดกับจีน โดยสัญญาที่ทำนั้นมักจะเป็นการตกลงกับรัฐบาลทหารชุดก่อนของพม่า หลายโครงการถูกต่อต้านอย่างหนักทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและต้นทุนทางสังคม

ศาสตราจารย์ Sean Turnell ชี้ว่าจีนถูกมองว่าเป็นผู้บริโภคที่ดึงทรัพยากรธรรมชาติออกจากพม่า ขณะที่ญี่ปุ่นคือผู้เข้ามาลงทุนสร้างอุตสาหกรรมในพม่าและช่วยวางรากฐานสาธารณูปโภคต่างๆโดยมิได้หวังเข้ามากอบโกยเพียงอย่างเดียว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายกฯไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางเยือนญี่ปุ่นและได้สนับสนุนให้มีการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมทวายบริเวณพรมแดนไทย-พม่ามูลค่า 8,500 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นักวิเคราะห์คิดว่าญี่ปุ่นยังลังเลที่จะทุ่มเงินลงทุนในโครงการดังกล่าว เนื่องจากมองว่าฝ่ายที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือประเทศไทยเอง

คุณ Thin Aung หนึ่งในผู้บริหารของบริษัท Italian-Thai ผู้ดูแลโครงการทวายกล่าวว่าแม้เวลานี้ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก แต่เมื่อถนนเชื่อมระหว่างไทยกับพม่าเสร็จสิ้นก็น่าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี และคาดว่าในช่วงไม่กี่เดือนจากนี้จะเริ่มมีโรงงานเล็กๆเข้าไปตั้งในบริเวณนั้น

และว่าเวลานี้บริษัท Italian-Thai กำลังมองหานักลงทุนรายอื่นๆนอกจากญี่ปุ่นที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายแห่งนี้แล้ว





XS
SM
MD
LG