ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์วิจารณ์โครงการสร้างทางขนส่งจากรัฐ Mizoram ในอินเดียข้ามเข้าไปในรัฐ Chin ของพม่าว่าไม่โปร่งใสและเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม


กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์วิจารณ์โครงการสร้างทางขนส่งจากรัฐ Mizoram ในอินเดียข้ามเข้าไปในรัฐ Chin ของพม่าว่าไม่โปร่งใสและเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

โครงการคาละดาน (Kaladan) นี้จะเชื่อมต่ออินเดียกับภาคตะวันตกของพม่า ซึ่งห่างไกล ทุรกันดาร และยากจน โดยจะใช้ทั้งทางรถและทางเรือ และไปสิ้นสุดที่ท่าเรือน้ำลึกในรัฐยะไข่ของพม่า

โครงการ Kaladan เป็นส่วนหนึ่งของ ‘Look East Program’ ของอินเดียที่หวังจะปรับปรุงการเชื่อมโยงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลอินเดียเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งประมาณไว้ว่าราวๆ 214 ล้านดอลล่าร์ และมีกำหนดจะแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2015 หรือประมาณสองปีข้างหน้า

แต่นักเคลื่อนไหวและนักชีววิทยากล่าวว่า รัฐบาลของทั้งสองประเทศ ไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการให้ประชาชนได้รับรู้อย่างเพียงพอ และไม่สนใจกับความเสี่ยงต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม

ขบวนการ Kaladan ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ต่างๆในท้องถิ่นกล่าวว่า แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในรัฐยะไข่ประสบความเสียหายในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่นั่น และทางการพม่าไม่ได้ดำเนินการประเมินผลกระทบของการก่อสร้างตามที่ให้สัญญาไว้ ขบวนการฯเรียกร้องให้ระงับการก่อสร้างจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาที่ได้ระบุไว้เสียก่อน

Twan Zaw ผู้อำนวยการของ Arakan River Network กล่าวที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ว่า เท่าที่ปรากฎ ยังไม่ได้เห็นรายงานการประเมินผลกระทบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคมและสุขภาพอนามัยเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้วิตกกังวล เพราะเป็นเรื่องของการดำรงชีพในท้องถิ่น

การประเมินผลกระทบชิ้นเดียวที่ได้กระทำไป เป็นการประเมินผลการสร้างทางหลวงยาว 99 กิโลเมตรในอินเดียที่เชื่อมต่อรัฐ Mizoram กับรัฐ Chin ของพม่า

นักชีววิทยา Kashmira Kakati ซึ่งเป็นผู้ทำรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ป่า กล่าวที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า ทางหลวงเส้นนี้จะตัดผ่านแหล่งชีวิตสัตว์ป่า แต่กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของอินเดียไม่ให้ความสนใจ

นักชีววิทยาผู้นี้ให้ความเห็นว่า ที่วิตกกังวลกันมากก็คือ เส้นทางสายนี้จะกลายมาเป็นเส้นทางการค้าชีวิตสัตว์ป่าสายสำคัญ ในขณะที่มีการค้าในเรื่องนี้ข้ามพรมแดนมากอยู่แล้ว

แต่นาย Rajesh Swami เจ้าหน้าที่ของสถานทูตอินเดียในกรุงเทพมหานคร ออกมาอ่านถ้อยแถลงของทางการอินเดียที่ว่า ข้อเท็จจริงก็คือ จำเป็นจะต้องสร้างทางสายนี้ ซึ่งจะนำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกมาสู่ภูมิภาค ผู้คนในบริเวณโครงการและการปกครองท้องถิ่นเป็นผู้มีความสามารถและความรู้ในการปรึกษาหารือเกี่ยวกับทุกแง่มุมของโครงการ และจะร่วมมือกันเพื่อให้โครงการสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

อีกเรื่องหนึ่งที่ขบวนการ Kaladan หยิบยกมาเป็นประเด็น คือชาวไร่ชาวนาใน Mizoram ไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างเพียงพอเมื่อถูกเวนคืนที่ดิน จึงเป็นห่วงว่า เมื่อรัฐบาลพม่าเริ่มเวนคืนที่ในรัฐ Chin ชาวบ้านที่นั่นจะตกที่นั่งลำบากเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มเรื่องการบังคับใช้แรงงานในพม่าด้วย

Salai Uk Ling เจ้าหน้าที่ขององค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในรัฐ Chin กล่าวว่า โครงการพัฒนาใหญ่ๆในพม่า โดยเฉพาะการสร้างถนนนั้น ในอดีตจะเกณฑ์แรงงานมาบังคับใช้ทั้งนั้น

ผลการสำรวจเรื่องนี้ในรัฐ Chin ในปี ค.ศ. 2011 โดยกลุ่ม Physicians for Human Rights ระบุว่า 9 ใน 10 ครัวเรือนที่นั่นถูกบังคับใช้แรงงานมาแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นอัตราสูงที่สุดในพม่า
XS
SM
MD
LG