นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชาวพม่าระบุว่านับตั้งแต่โครงการก่อสร้างท่อก๊าซ Shwe เริ่มขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน มีรายงานว่าเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและบังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ก่อสร้างท่อก๊าซไปแล้วหลายพันคน ท่อก๊าซซึ่งมีความยาวรวมประมาณ 3,900 กม.นี้ควบคุมโดยบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจีนร่วมกับบริษัทจากเกาหลีใต้และอินเดีย เมื่อโครงการแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเป็นสินทรัพย์ของรัฐบาลพม่าที่มีต่างชาติร่วมถือหุ้นมูลค่าสูงสุด ด้วยรายได้ที่ประเมินไว้สูงถึงปีละ 1 พันล้านดอลล่าร์ในช่วงเวลา 30 ปี
บรรดานักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าตำหนิว่าโครงการท่อก๊าซดังกล่าวมิได้คำนึงถึงชุมชนในท้องถิ่น โฆษกของกลุ่มความเคลื่อนไหวต่อต้านท่อก๊าซ Shwe ซึ่งประกอบด้วยชาวพม่าที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย อินเดียและบังกลาเทศ ระบุว่าผลกระทบของเรื่องนี้กำลังขยายวงกว้างไปทั่วพม่า โดยขณะนี้มีชาวพม่าราว 8,000 คนถูกบังคับให้ย้ายออกจากบริเวณก่อสร้างแนวท่อก๊าซ และเชื่อว่าประชาชนอีกราว 21,000 คนที่อาศัยอยู่ตามเส้นทางที่จะมีการก่อสร้างท่อก๊าซนั้นจะถูกไล่ที่อีกจำนวนมาก
ด้านคุณ Lway Aye Nang โฆษกหญิงขององค์กร Palaung Women ระบุว่าปัญหาการคอรัปชั่นคืออีกเรื่องที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเงินชดเชยที่บริษัทจีนจ่ายให้ชาวบ้านเจ้าของที่ดินซึ่งถูกไล่ที่นั้น ตกไปไม่ถึงมือชาวบ้าน แต่เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นในพม่าเป็นผู้ยักยอกเงินเหล่านั้นไว้เอง ชาวบ้านจึงต้องสูญเสียทั้งที่ดินและปัจจัยการดำรงชีวิตและต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อสร้างท่อก๊าซมากขึ้นเรื่อยๆ
ตามข้อตกลงที่ลงนามเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เครือข่ายท่อก๊าซ Shwe นี้สามารถขนส่งก๊าซราว 12 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นระยะทาง 2,800 กม.ไปยังมณฑลยูนนานในจีน ท่ออีกส่วนหนึ่งซึ่งยาว 1,100 กม.จะใช้ขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางและอาฟริกามายังท่าเรือในพม่า เชื่อกันว่าท่อก๊าซและท่อน้ำมันนี้จะช่วยรองรับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนและช่วยย่นเวลาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางไปยังภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
คุณ Ian Storey ผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ชี้ว่า ด้วยความสำคัญยิ่งยวดที่ท่อก๊าซ Shwe มีต่อเศรษฐกิจจีน จึงทำให้จีนทำไม่รู้ไม่เห็นต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า
ที่ผ่านมารัฐบาลประเทศตะวันตกต่างใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลพม่าสืบเนื่องจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่บริษัทจากจีนและไทยยังคงทำธุรกิจกับรัฐบาลพม่าต่อไป โดยรัฐบาลจีนอ้างเหตุผลด้านนโยบายว่าไม่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นและเรียกร้องความเป็นธรรมให้แต่ละประเทศมีโอกาสพัฒนาสิทธิมนุษยชนตามเงื่อนไขเวลาของประเทศนั้นๆ