ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักธุรกิจต่างชาติแข่งขันลงทุนในพม่าเพราะเห็นศักยภาพสูง แม้ชาวพม่าเองเริ่มมองว่าการปฏิรูปไม่ก้าวหน้าไปอย่างที่หวังไว้


นักวิเคราะห์กล่าวว่า เริ่มมีความวิตกกังวลกันในพม่าว่า การปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจจะไม่ก้าวหน้าไปอย่างที่คาดหวังไว้ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า แต่นักธุรกิจต่างประเทศยังมองเห็นอนาคตที่สดใสของพม่าอยู่ต่อไป

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เชื่อว่าพม่าอาจก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลางภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีกราวๆ 17 ปีข้างหน้า โดยมีข้อแม้ว่าเศรษฐกิจพม่าต้องเติบโตในอัตราสูงกว่า 6% ต่อปี

การปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจของพม่าที่เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 2011 ทำให้หลายประเทศเพิกถอนมาตรการลงโทษพม่าทางเศรษฐกิจที่ใช้มาเป็นเวลานาน John Hancock นักกฎหมายชาวออสเตรเลียและที่ปรึกษาในเรื่องพม่า บอกว่านักลงทุนชาวต่างชาติมองเห็นศักยภาพของพม่า และว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าตื่นตะลึงทีเดียว

แต่ที่ปรึกษาเรื่องพม่าคนนี้ชี้ถึงปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจไว้ด้วยว่า จะต้องมีการปฏิรูปที่ดิน การก่อสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการศึกษา รวมทั้งการฟื้นฟูระบบราชการ

ในขณะเดียวกัน พม่าก็ยังเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ประชากรมากกว่าหนึ่งในสี่ จากจำนวนทั้งหมด 61 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าขีดความยากจนแห่งชาติ ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท และได้รับความกระทบกระเทือนเป็นอย่างยิ่งจากการไม่มีการขึ้นทะเบียนและออกโฉนดที่ดินที่ดีพอ

ในอีกด้านหนึ่ง Aung Zaw บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Irrawaddy บอกว่า มีคนไม่น้อยที่วิตกว่า การปฏิรูปกำลังถอยหลังเข้าคลอง

เขาบอกว่า มีคนพูดกันแล้วในตอนนี้ว่า มีการถอยหลังเข้าคลองในทุกด้าน โดยเฉพาะกับ “การตื่นทอง” เขาบอกว่า คนทั่วโลกไปพม่าและยกย่องระบอบปกครองว่าดำเนินการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้ถูกหลอก เพราะถ้าไปดูในตอนนี้จะเห็นว่า เละเทะมาก ยังแก้ปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก

นักหนังสือพิมพ์ผู้นี้กล่าวต่อไปว่า ถ้าไปในบริเวณชายแดน จะเห็นด้วยว่า กองทัพบกเข้ายึดทุกสิ่งทุกอย่าง และบังคับให้ชาวบ้านโยกย้ายออกจากพื้นที่เพื่อเปิดทางให้กับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับการชดเชยอย่างเพียงพอ

รัฐบาลออสเตรเลียมีคำเตือนนักลงทุนไว้ว่า บุคคลและบริษัทธุรกิจที่สนิทสนมกับการทหารของพม่า มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจหลายด้าน รวมทั้ง น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และป่าไม้ และนักเศรษฐศาสตร์ Sean Turnell ของมหาวิทยาลัย Macquarie ในนคร Sydney บอกว่าการปฏิรูปในภาคการเกษตร ซึ่ง 65% ของชาวพม่าทำมาหากินอยู่นั้น ชลอตัวลง

นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้เชื่อว่า การปฏิรูปการเกษตรจะก่อให้เกิดความแตกต่างในทางดีอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของผู้คน ซึ่งส่วนหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องที่ดิน แต่ที่ปรากฎคือการถอยหลังแทนความก้าวหน้า เขาให้ความเห็นว่า ถ้าชาวนาไม่มีสิทธิ์ในที่ดิน ก็จะขอสินเชื่อได้ยาก และจะมีภาระหนี้สินสูง

นักวิเคราะห์คนอื่นๆ บอกว่า จะต้องรอผลการเลือกตั้งในปี 2015 เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า พม่าจะก้าวหน้าต่อไปได้หรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันก็วิตกว่า ผู้ที่มีผลประโยชน์อยู่ในระบอบปกครองเวลานี้จะไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก และกำลังพยายามบ่อนทำลายการปฏิรูปโดยก่อกวนให้เกิดการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์และทางศาสนา
XS
SM
MD
LG