ลิ้งค์เชื่อมต่อ

พบผู้ป่วย “อาการหัวใจสลาย” มากขึ้นในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด


วารสารทางการแพทย์ JAMA Network Open เผยแพร่รายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาซึ่งระบุว่า มีผู้ป่วยจาก“อาการหัวใจสลาย” เพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลสองแห่งในรัฐโอไฮโอ โดยผูู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่แสดงอาการอันเป็นผลจากความเครียดในช่วงการระบาดของไวรัส ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

อาการของโรคหัวใจจากความเครียด (stress-induced cardiomyopathy) หรือที่รู้จักกันอย่างไม่เป็นทางการว่า อาการหัวใจสลาย หรือ broken heart syndrome เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ทำให้เจ็บหน้าอก คล้ายๆ กับอาการหัวใจวาย แต่อาการนี้มีสาเหตุจากความเครียด ไม่ใช่การอุดตันของเส้นเลือด โดยผู้ป่วยมักฟื้นตัวได้เองในช่วงไม่กี่วันหรือสัปดาห์ ขณะที่มีกรณีเสียชีวิตบ้างแต่เป็นส่วนน้อยมาก

นักวิจัยพบว่า ผู้ป่วยในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกนั้น มีแนวโน้มเกิดอาการหัวใจสลายมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ประสบภาวะการระบาดใหญ่ใดๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ถึง 2 เท่า

รายงานที่จัดทำโดยนักวิจัยจากศูนย์การแพทย์ Cleveland Clinic ในรัฐโอไฮโอชิ้นนี้ ทำการศึกษาผู้ป่วย 1,914 คนที่มีปัญหาหัวใจ รวมถึงผู้ป่วยกว่า 250 คนที่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ในช่วงเดือนมี.ค. - เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดของไวรัสโควิด-19

ทีมนักวิจัยสรุปว่า ผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอาจเชื่อมโยงกับความเครียดในเชิงจิตวิทยา สังคม และเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการระบาดของไวรัส ซึ่งรวมถึงการกักตัว การขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด และผลกระทบทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาถึงความเชื่อมโยงระหว่างอาการหัวใจสลายและความเครียดจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือการเห็นคนใกล้ตัวติดเชื้อดังกล่าว โดยผู้ป่วยในงานวิจัยชิ้นนี้ไม่มีใครติดเชื้อไวรัสเลย และทางทีมวิจัยเห็นว่าควรมีการศึกษาความเชื่อมโยงนี้ต่อไป

งานวิจัยชิ้นนี้ยังวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ จากทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐโอไฮโอเท่านั้น โดย ดร.จอห์น ฮอรอวิทซ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านโรคหัวใจ มหาวิทยาลัยแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า งานวิจัยดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องการเก็บตัวอย่าง โดยศึกษาแต่ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจสวนหัวใจเพื่อตรวจหาการอุดตันในเส้นเลือดเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้กลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่อายุมากหรือมีอาการรุนแรงกว่า ที่เข้ารับการตรวจสวนหัวใจไม่ได้ ไม่ถูกศึกษาในรายงานชิ้นนี้

XS
SM
MD
LG