ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'น้ำหนักตัวเกิน' ทำให้ความสามารถทางความคิดอ่านของผู้สูงวัยบกพร่อง


obese
obese
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:23 0:00

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซน่ารายงานว่า ระดับดัชนีมวลกายหรือ BMI ที่สูงอาจเป็นสาเหตุของสภาวะการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ความสามารถทางความคิดอ่านของผู้สูงวัยบกพร่อง

Kyle Bourassa หัวหน้าผู้ร่างรายงานผลการวิจัยนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Brain, Behavior and Immunity กล่าวว่า ยิ่งคุณมีดัชนีมวลกายสูงขึ้นเท่าใด สภาวะการอักเสบในร่างกายก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย การวิจัยค้นพบว่าสภาวะการอักเสบในร่างกายโดยเฉพาะในสมองส่งผลกระทบทางลบต่อการทำงานของสมองและความคิดอ่าน

ข้อสรุปนี้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาการสูงวัยของคนในอังกฤษ (English Longitudinal Study of Aging) ที่ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพความเป็นอยู่ และสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของชาวอังกฤษที่อายุ 50 ปีขึ้นไป นาน 12 ปี

ทีมนักวิจัยได้ศึกษาคนสองกลุ่มเป็นการเฉพาะในช่วงระยะเวลานาน 6 ปี คุณ Bourassa ชี้ว่ายิ่งคนในการศึกษามีระดับดัชนีมวลกายสูงในตอนเริ่มต้นการศึกษา คนเหล่านี้จะมียิ่งการเปลี่ยนแปลงในระดับโปรตีน CRP ที่สูงขึ้นในช่วงสี่ปีถัดมา

CRP ย่อมาจากคำว่าโปรตีน C-reactive ที่เป็นตัวบ่งชี้สภาวะการอักเสบในร่างกายที่พบในกระเเสเลือด การเปลี่ยนเเปลงในโปรตีนชนิดนี้ในช่วง 4 ปี จะเป็นตัวช่วยพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับความสามารถทางความคิดอ่านภายใน 6 ปี

ดัชนีมวลกายของคนในการศึกษานี้ ช่วยพยากรณ์การลดลงด้านความสามารถทางความคิดอ่านของพวกเขาเนื่องมาจากระดับสภาวะการอักเสบในร่างกาย

Bourassa กล่าวว่า เเม้ว่าผลการศึกษาจะแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างดัชนีมวลกายกับความบกพร่องในด้านความคิดอ่านเพราะสภาวะการอักเสบในร่างกาย เขาเตือนว่าเราจำเป็นต้องตระหนักว่า ผลการศึกษานี้เป็นเพียงแค่ความเกี่ยวโยงเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถระบุว่าเป็นเป็นสาเหตุและผลกระทบที่ชัดเจน นอกเสียจากว่าจะมีการทดลองลดระดับดัชนีมวลกายลงก่อน เเล้วศึกษาผลกระทบที่ตามมากับสภาวะการอักเสบในร่างกายและความสามารถทางการคิดอ่าน

และในขณะที่ความสามารถทางความคิดอ่านลดลง เป็นเรื่องปกติเมื่อคนเราสูงวัยขึ้น แต่การพบว่าดัชนีมวลกายเกี่ยวข้องกับสภาวะการอักเสบในร่างกาย อาจจะผลดีที่จะช่วยลดผลกระทบที่เลวร้ายลงได้

Bourassa กล่าวว่า หากคุณมีสภาวะการอักเสบในร่างกายที่สูง ในอนาคตนักวิจัยอาจจะเเนะนำให้ใช้ยาต้านอาการอักเสบ ซึ่งนอกจากเพื่อช่วยลดสภาวะอาการอักเสบในร่างกายลงเเล้ว ยังจะช่วยในด้านความสามารถทางความคิดอ่านอีกด้วย

Bourassa กล่าวปิดท้ายว่า การมีดัชนีมวลกายที่น้อยลงมีผลดีต่อสุขภาพของคนเราอย่างเเน่นอนและยังดีต่อสุขภาพของสมองอีกด้วย

สูตรคำนวณดัชนีมวลกาย

BMI = น้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง

ถ้าเราหนัก 60 กิโลกรัม สูง 1.6 เมตร ก็จะคำนวณได้เป็น 60 หารด้วย (1.6x1.6) = 23.43

มาดูเกณฑ์ประเมินค่าดัชนีมวลกาย สำหรับค่านี้กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

ค่าที่ได้น้อยกว่า 18.5 หมายความว่า คุณผอมเกินไป

ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 18.5-24.9 หมายความว่า คุณอยู่เกณฑ์เหมาะสม น้ำหนักตัวปกติ

ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 25-29.9 หมายความว่า คุณน้ำหนักเกิน แต่ยังไม่เรียกว่าอ้วน

ค่าที่ได้อยู่สูงกว่า 30 ขึ้นไป หมายความว่า คุณอ้วนแล้ว

(ข้อมูลอ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุขแห่งสหรัฐฯ)

(รายงานโดย VOA News / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)

XS
SM
MD
LG