ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิจัยเผย แมวดำยังถูกเมิน แม้ฉลองวันแมวดำสากลมา 12 ปี


(ที่มา:เอพี)
(ที่มา:เอพี)

ภารกิจการทลายอคติต่อแมวดำของ “วันยกย่องแมวดำสากล” เหมือนจะต้องดำเนินต่อไป เพราะการศึกษาพบว่าเจ้าเหมียวสีดำในสหรัฐฯ มีอัตราการรับเลี้ยงน้อยกว่าและถูกการุณยฆาตมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเชื่อเหนือธรรมชาติที่คนยังคงยึดติด

วันที่ 17 สิงหาคมของทุกปีคือ “วันยกย่องแมวดำสากล (Black Cat Appreciation Day)” ที่มีขึ้นเพื่อให้ผู้คนให้ความสำคัญกับแมวดำ และช่วยกันส่งเสียงว่าเจ้าเหมียวสีดำ ก็คู่ควรกับการได้รับความรักเช่นเดียวกันกับเพื่อนร่วมสปีชีส์ที่มีสีอื่น

วันดังกล่าวมีจุดกำเนิดเมื่อปี 2011 โดย เวยน์ เอช มอร์ริส ชาวนครนิวยอร์ก ที่ตั้งใจรำลึกถึงพี่สาวหรือน้องสาวของเขา และ ‘ซินแบด’ แมวดำที่เลี้ยงไว้ที่เสียชีวิตลงทั้งคู่ในปีดังกล่าว โดยเจ้าซินแบดเคยถูกพ่อของมอร์ริสห้ามไม่ให้เข้าบ้าน เพราะเชื่อว่าแมวดำจะนำโชคร้ายมาให้

แม้ว่าวันดังกล่าวจะได้รับการยอมรับและรำลึกถึงในวงกว้างมากขึ้น แต่ผลการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่าความกังวลของมอร์ริส ผู้ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2022 เรื่องอคติต่อแมวดำยังเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคม

การศึกษาโดยโรเบิร์ต เอ็ม คารินี เจนนิเฟอร์ ซินสกี และโจเนตตา ดี เวเบอร์ ที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ MDPI ปี 2020 ได้ศึกษาข้อมูลจากสถานพักพิงสำหรับแมวจร หรือเชลเตอร์ ในรัฐเคนตักกี สหรัฐฯ ในปี 2010-2011 จำนวนเกือบ 8,000 ตัว และพบว่าแมวสีดำมีโอกาสที่จะถูกรับเลี้ยงต่ำที่สุดและมีโอกาสถูกการุณยฆาตสูงที่สุด

ในการศึกษาฉบับเดียวกันยังอ้างอิงงานศึกษาอีกหลายชิ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ข้อมูลเมื่อปี 2015 ในรัฐนิวยอร์กที่พบว่าเจ้าเหมียวสีดำและโทนสีหม่น จะอยู่ในเชลเตอร์นานกว่า และมีคนคลิกเข้ามาดูในแพลตฟอร์มหาบ้าน เพ็ทไฟน์เดอร์ (Petfinder) น้อยกว่าแมวโทนสีครีม ข้อมูลจากรัฐโคโลราโดและสาธารณรัฐเช็คที่ถูกอ้างอิงก็มีข้อค้นพบที่คล้ายกัน

เจ้าเหมียวสีดำขึ้นไปเล่นกับของตกแต่งเทศกาลฮัลโลวีน อนึ่ง แมวดำก็เป็นหนึ่งในภาพจำของการตกแต่งบ้านในเทศกาลฮัลโลวีนด้วย (ที่มา: เอพี)
เจ้าเหมียวสีดำขึ้นไปเล่นกับของตกแต่งเทศกาลฮัลโลวีน อนึ่ง แมวดำก็เป็นหนึ่งในภาพจำของการตกแต่งบ้านในเทศกาลฮัลโลวีนด้วย (ที่มา: เอพี)

ผู้วิจัยระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีชื่อเรียกว่า “อคติต่อแมวดำ (Black Cat Bias - BCB)” ซึ่งแม้ยังไม่สามารถฟันธงได้ชัดเจนว่าผลการศึกษาทั้งหมดสามารถสรุปได้ว่าเกิดจากความคิดที่เป็น “อคติ” หรือไม่ แต่ก็เป็นการบอกใบ้ว่าสีของแมวมีผลต่อชะตากรรมของมันบนโลกใบนี้

การศึกษาโดย เฮย์ลี ดี โจนส์ และคริสเตียน แอล ฮาร์ท ที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Psychological Reports ในปี 2019 พยายามค้นหาความจริงเรื่องอคติต่อแมวดำ ด้วยการทำแบบสอบถามกับกลุ่มสำรวจจำนวน 101 คน ผู้ทำแบบสอบถามจะได้รับแจกภาพแมวในอิริยาบถทั่วไป แล้วให้ออกความเห็นว่าภาพแมวที่ปรากฏในแบบสอบถามมีความเป็นมิตรแค่ไหน ดูดุร้ายขนาดไหน และอยากรับเลี้ยงแมวเหล่านั้นเพียงใด

โดยสรุป ผู้ทำแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าแมวดำมีความเป็นมิตรน้อยกว่า ดูดุร้ายกว่า และมีโอกาสที่จะรับเลี้ยงน้อยกว่าแมวสีอื่น โดยปัจจัยหลักของการตัดสินใจเช่นนั้นมาจากเรื่องความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติและการที่ผู้ทำแบบสอบถามอ่านสีหน้าและอารมณ์ของแมวดำไม่ออก

ผู้วิจัยระบุว่า ปัจจัยเรื่องการเหยียดผิวของมนุษย์ต่อมนุษย์และความเชื่อในทางศาสนา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทัศนคติทางลบที่มีต่อแมวดำ

แม้ในอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปจะผูกโยงแมวดำกับเรื่องราวของพ่อมดแม่มดหรือความอัปมงคล แต่ในหลายประเทศก็มีทัศนคติต่อแมวดำในทางบวก เช่นในญี่ปุ่นหรือสกอตแลนด์ที่มองแมวดำว่าเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดีและความเจริญรุ่งเรือง หรือสมุดข่อยภาษาไทยที่ถูกเก็บรักษาที่ห้องสมุดบริติช ไลบรารี ก็ระบุว่า “แมวดำปลอดตลอดล้ำ” เป็นแมวดี เลี้ยงแล้วรวย

ที่มา: MDPI, Sage Journals, Psychology Today Black Cat Appreciation Page, Wayne Morris Obituary, ศิลปวัฒนธรรม, รอยเตอร

XS
SM
MD
LG