ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไบเดนยืนยัน สหรัฐฯ จะช่วยปกป้องไต้หวันหากถูกจีนรุกราน


U.S. President Joe Biden speaks during a news conference with Japanese Prime Minister Fumio Kishida at Akasaka Palace in Tokyo on May 23, 2022.
U.S. President Joe Biden speaks during a news conference with Japanese Prime Minister Fumio Kishida at Akasaka Palace in Tokyo on May 23, 2022.

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ประกาศว่า สหรัฐฯ มีความตั้งใจจะเข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องไต้หวันหากถูกจีนรุกราน ถือเป็นความเห็นล่าสุดของผู้นำสหรัฐฯ ในประเด็นที่เกี่ยวกับจีนและไต้หวันซึ่งที่ผ่านมามักถูกมองว่ามี "ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์"

ประธานาธิบดีไบเดนซึ่งอยู่ระหว่างเยือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่กรุงโตเกียว ในประเด็นที่ว่า สหรัฐฯ จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการทหารเพื่อปกป้องไต้หวันหากถูกจีนรุกรานหรือไม่ หลังจากที่สหรัฐฯ ลังเลที่จะทำเช่นนั้นกับกรณีที่รัสเซียบุกยูเครน

โดยผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า "ใช่ นั่นเป็นพันธะผูกพันที่เรามีอยู่" แต่มิได้ระบุรายละเอียดว่าจะช่วยปกป้องไต้หวันอย่างไร

คำตอบของปธน.ไบเดน ถือว่าเป็นความพยายามสร้างความชัดเจนมากขึ้นในนโยบายเรื่องจีนกับไต้หวัน หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อน ๆ มักเลี่ยงที่จะตอบตรง ๆ ในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวมีแถลงการณ์ในวันจันทร์ว่า "ตามที่ประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวไว้คือนโยบายของเราไม่เปลี่ยนแปลง และได้เน้นย้ำถึงนโยบายจีนเดียว รวมทั้งพันธะกิจของสหรัฐฯ ในการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงบริเวณช่องแคบไต้หวัน"

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนมีแถลงการณ์ตอบโต้ทันทีว่า จีนไม่ต้องการเจรจาประนีประนอมหรือยอมโอนอ่อนใด ๆ ในกรณีที่เกี่ยวกับอธิปไตยของจีน"

ที่กรุงโตเกียว ปธน.ไบเดน กล่าวด้วยว่า จีนกำลัง "เล่นกับอันตราย" แต่ก็ยังไม่เชื่อว่าจีนจะใช้กำลังทหารเพื่อยึดครองไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นว่าทั่วโลกต่างยืนหยัดต่อต้านรัสเซียที่รุกรานยูเครน รวมทั้งมาตรการลงโทษที่นำมาใช้ซึ่งจะส่งผลในระยะยาว

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวในวันจันทร์ก่อนเข้าร่วมประชุมกลุ่ม Quad ว่า "ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ต้องชดใช้จากการกระทำที่ป่าเถื่อนโหดร้ายในยูเครน"

ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องส่งข้อความไปถึงรัฐบาลกรุงมอสโกผ่านมาตรการลงโทษที่รุนแรงในระยะยาว เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับจีนหากต้องการใช้กำลังยึดครองไต้หวัน

ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ซึ่งแถลงข่าวร่วมกับผู้นำสหรัฐฯ มิได้ตอบคำถามอย่างชัดเจนในประเด็นที่ว่าญี่ปุ่นจะร่วมปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของจีนด้วยหรือไม่ แต่ระบุว่า "ความพยายามใด ๆ ก็ตามในการเปลี่ยนแปลงสถานะของประเทศใดประเทศหนึ่งด้วยการใช้กำลังทหาร เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในยูเครน ไม่ควรยอมให้เกิดขึ้นในแถบอินโด-แปซิฟิก"

ระหว่างการหารือระดับผู้นำ นายกฯ คิชิดะ กล่าวด้วยว่า ปธน.ไบเดน ยืนยันสนับสนุนความพยายามของญี่ปุ่นในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการทหารของประเทศ

เวลานี้ ไบเดนอยู่ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลาสามวัน โดยในวันอังคาร ปธน.ไบเดน และนายกฯ คิชิดะ จะร่วมหารือกับผู้นำของอินเดียและออสเตรเลีย ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือจตุภาคี หรือ Quad ประกอบด้วยสี่ประเทศ คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย ซึ่งล้วนมีเป้าหมายต้านทานอิทธิพลของจีนในแถบอินโด-แปซิฟิก

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG