ลิ้งค์เชื่อมต่อ

พันธมิตรสหรัฐฯ​ ยังกังขา หลังไบเดนประกาศว่า “อเมริกากลับมาแล้ว”


G7 Biden
G7 Biden
America is Back Skepticism
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:54 0:00


ในการประชุมประเทศกลุ่ม จี7 และการประชุมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ (NATO) ที่ยุโรปในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ได้ประกาศว่า “อเมริกากลับมาแล้ว”

ไบเดน ยังได้ขอให้ผู้นำประเทศประชาธิปไตยที่สำคัญของโลกสนับสนุนการก่อตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยเหลือประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ที่เรียกว่า Build Back Better World Partnership หรือ B3W เพื่อท้าทายโครงการ Belt and Road ที่มีอายุ 8 ปีของจีน

หลายประเทศยินดีที่ได้ยินคำประกาศของไบเดน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มักจะถอนตัวออกจากข้อตกลงต่าง ๆ ไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียม หรือคอยสร้างความปวดหัวให้กับพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์มองว่า หลายประเทศยังมีความคลางแคลงใจ และตั้งคำถามว่าสหรัฐฯ จะ “กลับมา” บนเวทีโลก และพร้อมเป็นผู้นำที่ไว้ใจได้เหมือนก่อนหรือไม่

ฮานส์ คุนด์นานี ผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรปแห่ง Chatham House สถาบัน think tank ในกรุงลอนดอน มองว่า ผู้นำยุโรปเห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือและเสมอต้นเสมอปลายอีกต่อไป โดยเฉพาะหากในอีก 4 ปีข้างหน้า สหรัฐฯ ได้ผู้นำคนใหม่ที่มีลักษณะคล้ายทรัมป์อีก เพราะตลอดสี่ปีที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีนั้น ได้มีนโยบายและการกระทำหลาย ๆ อย่างที่สร้างความปั่นป่วนและความตกตะลึงครั้งแล้วครั้งเล่าให้กับพันธมิตรสหรัฐฯ และความทรงจำเหล่านั้นยังไม่จางหายไป

ด้าน บาร์บารา โบดีน อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำเยเมน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันแห่งการศึกษาด้านการทูตแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กรุงวอชิงตัน มองว่าการกอบกู้ความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จะเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลของไบเดน เพราะผู้นำประเทศอื่น ๆ กำลังสงสัยว่า การตกลงทำสัญญากับสหรัฐฯ​ จะยืนยาวไปจนถึงรัฐบาลสมัยหน้าหรือไม่

ส่วนนักวิเคราะห์คนอื่นมองว่า ยุคของทรัมป์ ทำให้พันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐฯ ในยุโรปและเอเชีย เริ่มต้องหาวิธีที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เพราะสหรัฐฯ ทำตัวเอาแน่เอานอนไม่ได้ ในขณะที่พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันเองก็มีมุมมองด้านนโยบายต่างประเทศที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน

French President Emmanuel Macron and U.S President Donald Trump shake hands during the final press conference during the G7 summit Monday, Aug. 26, 2019 in Biarritz, southwestern France.
French President Emmanuel Macron and U.S President Donald Trump shake hands during the final press conference during the G7 summit Monday, Aug. 26, 2019 in Biarritz, southwestern France.

ทรัมป์ได้ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลง สนธิสัญญา และการเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ อย่างน้อยใน 13 กรณีด้วยกัน ซึ่งประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ มองว่าเป็นการทำตามอำเภอใจและเอาแน่เอานอนไม่ได้

โจ ไบเดน กระตือรือร้นที่จะแสดงให้เห็นว่า ผลการเลือกตั้งที่ตนเป็นผู้ชนะ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสหรัฐฯ พร้อมจะหวนคืนสู่ตำแหน่งผู้นำของประเทศประชาธิปไตยอีกครั้ง แต่พันธมิตรของสหรัฐฯ หลายประเทศกลับเห็นต่างออกไป

พวกเขามองว่าถึงแม้ไบเดนจะชนะด้วยคะแนน 81 ล้านเสียง ซึ่งเป็นคะแนนที่มากที่สุดเท่าที่ผู้ชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ จะเคยได้ แต่ทรัมป์ก็ยังได้คะแนนมากกว่า 74 ล้านเสียง ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และทรัมป์ยังได้คะแนนเสียงมากกว่าการลงเลือกตั้งครั้งแรกถึง 11 ล้านเสียงด้วย

คุนด์นานี แห่ง Chatham House มองว่า สิ่งที่ผู้นำยุโรปมองเห็น คืออเมริกาที่เต็มไปด้วยความแตกแยกที่ร้าวลึกรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการวางแผนระยะยาวระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ

ที่เห็นได้ชัดคือโครงการ Build Back Better World Partnership หรือ B3W ที่รัฐบาลของไบเดนต้องการให้หลายประเทศร่วมลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ที่จะผูกพันไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาสภาพอากาศโลก โครงการด้านสาธารณสุขและความมั่นคงด้านสุขภาพ เทคโนโลยี และความเท่าเทียมทางเพศ ในขณะที่ One Belt One Road ของจีน เน้นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ เช่น ท่าเรือ ไฮเวย์ สนามบิน และเขื่อน

เอริค ฟาร์นสเวิร์ธ รองประธานของ Americas Society/Council of the Americas กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีความจำเป็นมาก และหากประเทศที่กำลังพัฒนามองไม่เห็นว่าพวกเขาสามารถพึ่งพาประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยได้ ประเทศเหล่านั้นก็จะหันไปหาทางออก หรือพึ่งประเทศอื่น ๆ ที่พร้อมจะช่วยเหลือ เช่น จีน ที่มีทุนทรัพย์จำนวนมาก

France's President Emmanuel Macron, U.S. President Joe Biden, European Commission President Ursula von der Leyen and Italy's Prime Minister Mario Draghi walk along the boardwalk during the G7 summit in Carbis Bay, Cornwall, Britain, June 11, 2021.
France's President Emmanuel Macron, U.S. President Joe Biden, European Commission President Ursula von der Leyen and Italy's Prime Minister Mario Draghi walk along the boardwalk during the G7 summit in Carbis Bay, Cornwall, Britain, June 11, 2021.

ในการจะประสบความสำเร็จนั้น โครงการ B3W จะต้องได้รับความร่วมมือในระยะยาวจากทุกประเทศที่เข้าร่วม ซึ่งจะทำได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าประเทศเหล่านั้นเชื่อว่าโครงการนี้จะยังอยู่ต่อหรือไม่หากไบเดนไม่ได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ อีกต่อไป

ซึ่งโบดีน อดีตทูตสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าต่อจากนี้ข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับจะถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้ยังคงอยู่ได้ หากไม่มีสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ หลายประเทศก็ได้เริ่มปรับข้อตกลงต่าง ๆ เผื่อไว้ในวันที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญา

ย้อนกลับไปเมื่อทรัมป์ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงกรุงปารีสว่าด้วยปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกในปีก่อน ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ลงมติที่จะทำตามข้อตกลงต่อไป และเมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี Trans-Pacific Partnership ประเทศอื่น ๆ ก็ยังเดินหน้าต่อไป และยังต้อนรับคู่แข่งคนสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง จีน เข้าเป็นสมาชิกข้อตกลงอีกด้วย

โบดีนมองว่าจุดแข็งของไบเดน คือการที่เขามีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับผู้นำหลายประเทศทั่วโลก และมักจะถูกมองว่าเป็นคนรักษาคำมั่นสัญญา แต่จุดด้อยที่สุดของไบเดน ซึ่งเป็นสิ่งที่แม้แต่ผู้นำสหรัฐฯ เองก็ไม่สามารถควบคุมได้ คือระบบการเมืองในอเมริกา ที่มักจะเป็นการเหวี่ยงไปมาระหว่างสองขั้วพรรคการเมือง ซึ่งทำให้คำมั่นสัญญาที่เคยมีไว้ในยุคก่อนหน้านี้ มักจะถูกยกเลิกไป

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ​ แมเดอลีน อัลไบรท์ ครั้งหนึ่งเคยกล่าวถึงสหรัฐฯ ว่าเป็น “ประเทศที่ขาดไม่ได้” แต่ โบดีน เกรงว่า หากสหรัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศอื่น ๆ ได้เ สหรัฐฯ อาจจะถูกเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่ “ขาดไม่ได้” เป็นประเทศที่ "สร้างความลำบากและไม่มีความจำเป็นสำหรับประเทศอื่นอีกต่อไป” ในที่สุด ​

XS
SM
MD
LG