ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วัยรุ่นอารมณ์บูด หรือซึมเศร้า สังเกตอย่างไร?


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:07 0:00

การเปลี่ยนจากวัยเด็กไปสู่วัยรุ่นนั้นอาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ เพราะฮอร์โมนในร่างกายอาจส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคนหนุ่มสาวได้

เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้นพวกเขามักจะตีตัวออกห่างจากผู้ปกครอง พร้อมทั้งพัฒนาบุคลิกภาพเฉพาะของตนเอง ดังนั้นพวกเขาอาจจะพูดหรือทำตัวแตกต่างในเวลาที่เข้าสู่วัยรุ่น

ตัวอย่างเช่น เด็กอายุ 15 ปีที่เคยมีบุคลิกภาพที่เป็นมิตร อาจกลายเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย เด็กหญิงอายุ 16 ปีที่เคยชอบใช้เวลากับครอบครัว อาจกลายเป็นคนที่ชอบเก็บตัวอยู่ในห้องคนเดียว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและบุคลิกภาพเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติของการเป็นวัยรุ่น

แต่เราจะบอกได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเรื่องที่ปกติ หรือเมื่อไหร่ที่จะเรียกว่าเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ?

การสำรวจความคิดเห็นครั้งล่าสุดแสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองหลายคนอาจจะไม่ทราบถึงความแตกต่างของเรื่องนี้ โดยพบว่าชาวอเมริกันจำนวนมากไม่สามารถบ่งบอกสัญญาณของภาวะซึมเศร้าในบุตรหลานที่กำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น และที่เป็นวัยรุ่นแล้วได้

ผลการสำรวจของโรงพยาบาลเด็ก C.S. Mott Children’s Hospital ซึ่งเป็นโครงการของศูนย์ประเมินและวิจัยด้านสุขภาพเด็ก Susan B. Meister ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สอบถามหญิงชาย 819 คนในสหรัฐฯ ซึ่งมีบุตรอย่างน้อยหนึ่งคนเรียนอยู่ในระดับมัธยมต้น หรือมัธยมปลาย เกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาตลอดจนบทบาทของทางโรงเรียนในการตระหนักรู้ถึงภาวะซึมเศร้าของเยาวชน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่มั่นใจว่าตนจะสามารถรับรู้ถึงภาวะซึมเศร้าในบุตรหลานวัยรุ่นของตนได้ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่าพ่อแม่ราวสองในสามมีปัญหาในการบ่งชี้ถึงสัญญาณและอาการของความผิดปกติทางสุขภาพจิตดังกล่าว

Sarah Clark ผู้อำนวยการร่วมในการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า บุตรหลานในหลายครอบครัวทั้งที่กำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่นและที่เป็นวัยรุ่นแล้ว ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญทั้งในด้านพฤติกรรมและวิธีการที่ผู้ปกครองและเด็กมีปฎิสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งอาจเป็นเรื่องท้าทายในการเข้าใจสภาพอารมณ์ของเด็กวัยรุ่นเหล่านั้น แม้ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้าหรือไม่ก็ตาม

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุวิธีสังเกตอาการของภาวะซึมเศร้าไว้ ดังนี้;

  • มีอาการเศร้าสร้อยหรือกระวนกระวายใจเป็นประจำหรือตลอดเวลา
  • ไม่ต้องการทำกิจกรรมที่เคยเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน
  • หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย หรือท้อแท้สิ้นหวัง
  • มีปัญหาในการนอน รวมทั้งอาการนอนไม่หลับ ตื่นเช้ากว่าปกติ หรือนอนมากเกินไป
  • รับประทานอาหารมากหรือน้อยกว่าปกติ หรือไม่อยากอาหาร
  • มีอาการปวดตามตัวเป็นประจำ รวมทั้งปวดหัว ปวดท้อง ซึ่งรักษาไม่หาย
  • ไม่สามารถจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ลืมรายละเอียดต่าง ๆ ได้ง่าย หรือไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้
  • รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา แม้ว่าจะนอนหลับเต็มที่
  • รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดตลอดเวลา
  • มีความคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย

CDC มีคำแนะนำด้วยว่า หากคุณคิดว่าบุตรหลานที่เป็นวัยรุ่นอาจมีภาวะซึมเศร้าและอาจคิดที่จะฆ่าตัวตาย คุณจะสามารถช่วยได้อย่างไร?:

1. ตั้งคำถาม – ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตแนะว่า หากคุณกังวลว่าสมาชิกวัยรุ่นในครอบครัวกำลังคิดที่จะฆ่าตัวตายหรือไม่ ควรถามไปตรง ๆ และไม่ควรสัญญาว่าจะเก็บเรื่องความคิดฆ่าตัวตายนั้นไว้เป็นความลับ

2. รับฟังปัญหา – หลังจากที่ถามคำถามไปแล้ว ให้รับฟังในสิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างระมัดระวัง

3. อยู่เคียงข้าง – คอยติดตามดูสภาพจิตใจ และบอกให้พวกเขารู้ว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลก

4. สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย – กำจัดสิ่งต่าง ๆ ที่คิดว่าพวกเขาจะสามารถใช้ในการทำให้เกิดอันตรายต่อตนเอง ซึ่งอาจรวมถึงยา ไปจนถึงอาวุธ โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันการฆ่าตัวตาย

5. หาความช่วยเหลือ – มองหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการฆ่าตัวตาย เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หรือองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งสายด่วนป้องกันการฆ่าตัวตาย

XS
SM
MD
LG