ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทีมนักวิจัยในสหรัฐฯ พบว่าการขาดเเบคทีเรียสำไส้ชนิดหนึ่งอาจเป็นสาเหตุของออทิสซึ่ม


Autism
Autism

ทีมนักวิจัยในสหรัฐฯ ทดลองบำบัดอาการออทิสซึ่มในหนูทดลองด้วยการปลูกถ่ายแบคทีเรียลำไส้ Lactobacillus reuteri

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:53 0:00
Direct link

ออทิสซึ่มเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกความบกพร่องของพัฒนาการทางสมองอย่างหนึ่ง คนที่มีความบกพร่องนี้มักประสบปัญหาในการสื่อสารกับคนอื่นๆ บางคนมีความบกพร่องในระดับต่ำ ขณะที่บางคนอาจมีบกพร่องในระดับที่รุนแรง ไม่สื่อสารกับคนอื่น มีพฤติกรรมทำอะไรซ้ำๆ และมักแสดงอารมณ์โกรธเกรี้ยว

ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์มีข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุของโรคหลายอย่างด้วยกัน ในบรรดาข้อสงสัยนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องระหว่างความอ้วนในพ่อเเม่กับโรคออทิสซึ่มในลูก

ทีมนักวิจัยที่วิทยาลัยการแพทย์เบเยอร์ (Baylor College of Medicine) ต้องการค้นคว้าว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดความเกี่ยวข้องดังกล่าว ทีมนักวิจัยทำการทดลองด้วยการให้หนูทดลองกินอาหารที่มีไขมันสูง และพบว่าลูกหนูที่เกิดกับเเม่หนูที่กินอาหารที่มีไขมันสูง แสดงพฤติกรรมที่ส่อว่าเป็นออทิสซึ่ม คือแสดงอาการต่อต้านสังคม ไม่เข้าสังคมกับหนูตัวอื่นๆ และไม่เเสดงอาการตอบสนองใดๆ กับหนูตัวอื่นๆ ในกลุ่ม

หลังจากนั้น ทีมนักวิจัยทำการแยกลูกหนูจากแม่หนูหลังจากอายุครบสามสัปดาห์

ทีมนักวิจัยย้ำว่า เด็กที่เป็นโรคออทิสซึ่มมักมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและมีมารดาที่น้ำหนักตัวเกิน ศาสตราจารย์ Mauro Costa-Mattioli ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาที่วิทยาลัยการแพทย์เบเยอร์ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยคิดว่าพฤติกรรมต่อต้านสังคมน่าจะมีความเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งกับอาหารที่รับประทาน

ศาสตราจารย์ Costa-Mattioli กล่าวว่า ทีมนักวิจัยทำการทดลองอีกครั้งหนึ่ง โดยนำลูกหนูทดลองที่มีพฤติกรรมแบบออทิสซึ่ม ไปอยู่ร่วมกับลูกหนูที่ปกติดี หนูทดลองที่เป็นออทิสซึ่มกินมูลจากลูกหนูปกติซึ่งเป็นเรื่องปกติของหนู และในมูลของหนูปกติมีเเบคทีเรียหลายชนิดปนอยู่

ศาสตราจารย์ Costa-Mattioli กล่าวว่า เมื่อเฝ้าติดตามดูพฤติกรรมของลูกหนูที่เป็นออทิสซึ่มขณะที่มันเริ่มกลายเป็นหนูโตเต็มวัย ทีมนักวิจัยพบว่าหนูกลุ่มนี้เริ่มมีพฤติกรรมที่เริ่มดีขึ้น เขาชี้ว่าลูกหนูทดลองที่มีอาการออทิสซึ่ม ขาดเเบคทีเรียในลำไส้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Lactobacillus reuteri และมันได้รับเเบคทีเรียลำไส้ตัวนี้เข้าไปหลังจากกินมูลของลูกหนูปกติที่อยู่ร่วมในกรงเดียวกัน

หลังจากนั้น ทีมนักวิจัยทำการทดลองในลูกหนูทดลองอีกกลุ่มหนึ่งที่เกิดจากการผสมพันธุ์ให้ปลอดจากเเบคทีเรียลำไส้ชนิดนี้ ลูกหนูประเภทนี้ก็มีพฤติกรรมที่ส่อว่าเป็นออทิสซึ่มเช่นกัน โดยทีมนักวิจัยให้ลูกหนูกลุ่มนี้ดื่มน้ำที่ผสมเชื้อเเบคทีเรียในลำไส้ Lactobacillus reuteri นานราวหนึ่งเดือน

ศาสตราจารย์ Costa-Mattioli กล่าวว่า แบคทีเรียลำไส้ช่วยให้พฤติกรรมทางสังคมของหนูทดลองที่เป็นออทิสซึ่มดีขึ้น แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมที่ชอบทำอะไรซ้ำๆหรือความวิตกกังวล

ทีมนักวิจัยเรียกเชื้อเเบคทีเรียตัวนี้ว่า เเบคทีเรียการเข้าสังคม

ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Cell ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ Costa-Mattioli กล่าวว่าเชื้อเเบคทีเรีย Lactobacillus reuteri เกี่ยวข้องกับการผลิตฮอร์โมนที่สร้างความรู้สึกดีที่เรียกว่าฮอร์โมน oxytocin ซึ่งช่วยให้หนูทดลองชอบเข้าสังคมมากขึ้น

ทีมนักวิจัยพบว่าลูกหนูทดลองที่ต่อต้านสังคม มีจำนวนเซลล์สมองที่ผลิตฮอร์โมน oxytocin ในระดับต่ำ แต่เพิ่มปริมาณขึ้นหลังจากได้รับเชื้อเเบคทีเรียในลำไส้ Lactobacillus reuteri ที่ขาดไป

ศาสตราจารย์ Costa-Mattioli กล่าวว่า ผลการศึกษาในหนูทดลองนี้ช่วยให้ทีมงานวิจัยพอได้ภาพว่า คนเราจะได้รับผลกระทบอย่างไรหากขาดแบคทีเรียในลำไส้ชนิดนี้

และเเม้ว่ายังเร็วเกินไปที่จะทำการสรุปใดๆ พวกเขาตื่นเต้นต่อความคิดที่ว่าอาจจะสามารถใช้เชื้อเเบคทีเรียในลำไส้ช่วยปรับปรุงพฤติกรรมออทิสซึ่มให้ดีขึ้นได้

(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG