ลิ้งค์เชื่อมต่อ

บริษัทออสเตรเลียพัฒนาระบบติดตามขยะอวกาศด้วยแสงเลเซอร์


บริษัทออสเตรเลียพัฒนาระบบติดตามขยะอวกาศด้วยแสงเลเซอร์
บริษัทออสเตรเลียพัฒนาระบบติดตามขยะอวกาศด้วยแสงเลเซอร์

คณะนักวิจัยออสเตรเลียสามารถคิดค้นพัฒนาระบบติดตามด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ขยะอวกาศปะทะกับยานอวกาศหรือดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก

คณะนักวิจัยออสเตรเลียสามารถคิดค้นพัฒนาระบบติดตามด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ขยะอวกาศชิ้นใหญ่ๆ ปะทะกับยานอวกาศหรือดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลกได้แล้ว โดยนักวิจัยแห่งบริษัท Electro Optic Systems ชี้ว่า เทคโนโลยีใหม่นี้ช่วยลดอันตรายจากขยะในอวกาศจำนวนมากซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงได้

ด็อกเตอร์ Craig Smith นักวิทยาศาสตร์แห่งบริษัท Electro Optic Systems ในกรุงแคนเบอร์ร่า ออสเตรเลีย ประเมินว่า ปัจจุบันมีขยะอวกาศราว 5 แสนชิ้นล่องลอยปะปนอยู่ในวงโคจรรอบโลก และบางครั้งขยะที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงประมาณ 36,000 กม.ต่อ ชม.นั้นพุ่งเข้าปะทะกับดาวเทียมจนก่อความเสียหาย ขยะเหล่านั้นคือเศษซากชิ้นส่วนที่เกิดจากโครงการสำรวจอวกาศต่างๆที่มนุษย์ทำขึ้น เช่น ชิ้นส่วนจากยานอวกาศเก่าๆ หรือจากดาวเทียมที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งอาจมีขนาดเท่ารถยนต์หรืออาจเล็กมากเพียง 1 มิลลิเมตร แต่ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ด็อกเตอร์ Smith ระบุว่าต่างสร้างความเสียหายได้ทั้งนั้น ยิ่งไปกว่านั้นยังก่อให้เกิดมลพิษในอวกาศอีกด้วย

ด็อกเตอร์ Craig Smith ชี้ว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ปัญหาขยะอวกาศได้ถูกละเลยไป เช่นเดียวกับที่มนุษย์ละเลยทะเลและแม่น้ำในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา จนเกิดมลพิษขึ้นมากมาย และว่าปัญหาขยะอวกาศนั้นก็เหมือนกับขยะบนพื้นโลกเพราะต่างเกิดจากน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น ที่น่ากังวลคือนับวันปริมาณขยะในอวกาศยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า ความเสี่ยงของยานอวกาศและดาวเทียมต่างๆก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

บริษัท Electro Optic Systems ได้รับเงินทุน 3,500,000 ดอลล่าร์จากรัฐบาลเพื่อสร้างระบบติดตามอัตโนมัติด้วยแสงเลเซอร์ระบบแรกของโลกขึ้น เพื่อใช้ติดตามตรวจสอบขยะอวกาศได้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยจะยิงแสงเลเซอร์ขึ้นไปจากพื้นโลก เป้าหมายก็คือขยะอวกาศที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง เพื่อที่จะเตือนให้นักบินอวกาศหรือผู้ควบคุมดาวเทียมทราบล่วงหน้าถึงภัยที่กำลังจะมา และหาทางป้องกันหรือหลีกเลี่ยงขยะอวกาศนั้นได้ทันเวลา

คณะนักวิจัยในกรุงแคนเบอร์ร่าระบุว่า เป้าหมายสูงสุดคือการสร้างระบบติดตามด้วยแสงเลเซอร์นี้ในหลายประเทศ เพื่อรวมเป็นเครือข่ายโล่ห์ป้องกันสำหรับโครงการด้านอวกาศในอนาคต ขณะนี้มีหลายประเทศที่ให้ความสนใจในเทคโนโลยีดังกล่าว โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และสถาบันอื่นๆในเยอรมนีและสหรัฐร่วมอยู่ด้วย

ทางรัฐบาลออสเตรเลียกล่าวว่า เทคโนโลยีติดตามขยะอวกาศด้วยแสงเลเซอร์นี้ คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การวิจัยพัฒนาด้านอวกาศอันน่าภาคภูมิใจของออสเตรเลีย

XS
SM
MD
LG