คณะนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียผู้กำลังเร่งพัฒนา “โครงการฟองน้ำดูดซับคาร์บอนใต้ดิน” บอกว่าได้ใช้เวลาศึกษาโครงการนี้ราว 3 ปีครึ่ง และพบว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้ผลจริงและปลอดภัย
เมื่อ 3 ปีก่อน คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Commonwealth Scientific และองค์กรวิจัยทางอุตสาหกรรม เริ่มอัดฉีดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 65,000 ตันลึกลงไปใต้ดินราว 2 กิโลเมตรตรงจุดที่เคยเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมือง Warrnambool รัฐ Victoria และจนถึงเวลานี้ยังไม่พบว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อัดฉีดไปนั้นรั่วไหลออกมาจากบ่อกักเก็บใต้ดินแต่อย่างใด
นักวิจัย Charles Jenkins ระบุว่าโครงการนี้อาจช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนได้มหาศาล โดยประมาณการณ์ว่าเมื่อถึงปี ค.ศ 2050 หรืออีก 39 ปีข้างหน้า วิธีนี้จะช่วยให้สามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 2 ใน 3 ของปริมาณทั้งหมดที่ผลิตออกมาทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แม้นักวิทยาศาสตร์ต่างมองการณ์ในแง่ดี แต่นักวิจารณ์บางคนยังคงเห็นว่ากระบวนการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไว้ใต้ดินปริมาณมากมายมหาศาลนั้นมีต้นทุนสูงเกินไปและยังมีความเสี่ยงไม่น้อย
ศาสตราจารย์ Arthur Williamson แห่งภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัย Canterbury ในนิวซีแลนด์ ชี้ว่ารายงานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่ใช่ผลสรุป เพราะการทดสอบนั้นทำแค่ขนาดเล็กๆในระยะเวลาสั้นๆภายใต้แหล่งก๊าซที่กำหนดไว้เฉพาะ ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะได้ผลกับแหล่งก๊าซอื่นๆและกับก๊าซคาร์บอนปริมาณมากกว่า
ถึงกระนั้นก็ดี โครงการฟองน้ำดูดซับคาร์บอนใต้ดินถือเป็นความหวังเรืองรองของออสเตรเลียในการลดปริมาณก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจก และโครงการนี้ยังได้ถูกนำมาพูดถึงในการประชุมสหประชาชาติเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เมือง Durban อาฟริกาใต้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อาจเป็นทางเลือกใหม่ของเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงงานอุตสาหกรรมในออสเตรเลีย หนึ่งในประเทศที่ผลิตก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนมากที่สุดในโลก