ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ออสเตรเลีย-อาเซียน เตือนทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ หวั่นการเผชิญหน้าในทะเลจีนใต้


รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จับมือในภาพหมู่ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย 6 มี.ค. 2024 (เอพี)
รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จับมือในภาพหมู่ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย 6 มี.ค. 2024 (เอพี)

ผู้นำ 10 ชาติอาเซียนเรียกร้องให้ประเทศที่เกี่ยวข้องในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้มีความอดทนอดกลั้น หวั่นการเผชิญหน้า

แถลงการณ์ร่วมของผู้นำอาเซียนมีขึ้นในวันพุธ ในช่วงท้ายของเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย ที่เมลเบิร์น ในวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างออสเตรเลียกับอาเซียน

โดยทั้งออสเตรเลียและอาเซียน “ตระหนักถึงประโยชน์ของการมีทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง” และเรียกร้อง “ทุกประเทศให้หลีกเลี่ยงการดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว” ที่อาจคุกคามมิติเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ไม่ได้มีถ้อยความที่กล่าวถึงจีนที่เผชิญหน้ากับหลายประเทศในภูมิภาคโดยตรง โดยเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันอังคาร บริเวณสันดอนเซคันด์โธมัสโชล (Second Thomas Shoal) ที่เรือยามชายฝั่งฟิลิปปินส์ 2 ลำเผชิญหน้ากับเรือยามชายฝั่งของจีน

รัฐบาลกรุงมะนิลา กล่าวว่าเรือลำหนึ่งของฟิลิปปินส์ได้รับความเสียหายจากการชนเข้ากับเรือจีนที่พยายามปิดกั้นเส้นทาง “อย่างเป็นอันตราย” ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ยามชายฝั่งฟิลิปปินส์ 4 นายที่อยู่บนเรือได้รับบาดเจ็บจากการที่จีนฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่

ที่ผ่านมา จีนอ้างสิทธิ์เกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ และเพิกเฉยต่อการอ้างสิทธิ์ของฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม อีกทั้งเมื่อปี 2016 ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮกระบุว่า การกล่าวอ้างของจีนไม่มีหลักการทางกฎหมายรองรับ แต่จีนปฏิเสธคำตัดสินที่ว่านี้

รัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลมะนิลาเผชิญหน้ากันบริเวณสันดอนสการ์โบโรห์โชล (Scarborough Shoal) มาหลายต่อหลายครั้ง แม้ว่าจะอยู่ในพิกัดของเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ก็ตามที

  • มีเนื้อหาบางส่วนจากเอพี รอยเตอร์ และเอเอฟพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG