ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตัวอย่างประเทศเอเชียนำเข้าเชื้อเพลิงจากรัสเซีย 


FILES-RUSSIA-BELARUS-ENERGY-GAZPROM
FILES-RUSSIA-BELARUS-ENERGY-GAZPROM

ขณะที่ประเด็นรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและอาจจุดชนวนความขัดแย้งในยุโรป นักวิเคราะห์เตือนว่า กรณีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อประเทศเอเชียหลายประเทศที่พึ่งพาน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินจากรัสเซีย

นักวิเคราะห์ยังเตือนด้วยว่า หากกองกำลังรัสเซียบุกรุกยูเครน รัสเซียอาจเผชิญกับมาตรการลงโทษและโต้ตอบ ที่อาจทำให้การส่งออกเชื้อเพลิงสะดุดลง และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศนำเข้าเชื้อเพลิงจากรัสเซีย

สำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมตัวอย่างประเทศเอเชียที่นำเข้าน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินจากรัสเซีย


จีน

รัสเซียส่งออกน้ำมันดิบ 15.4 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำมันดิบที่รัสเซียส่งออกทั้งหมดไปยังจีน ซึ่งเป็นปริมาณน้ำมันดิบส่งออกไปยังจีนที่มากอันดับสองรองจากซาอุดีอาระเบีย เมื่อปีที่แล้ว จีนซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียโดยเฉลี่ยวันละ 1.59 ล้านบาร์เรล หรือราว 15.5 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำมันดิบที่จีนนำเข้าทั้งหมด

น้ำมันดิบ 40 เปอร์เซ็นต์ที่รัสเซียส่งออกให้จีน ถูกส่งผ่านท่อส่งน้ำมันสายไซบีเรียตะวันออก-มหาสมุทรแปซิฟิก

นอกจากนี้ รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกก๊าซให้จีนมากที่สุดอันดับสามเมื่อปีที่แล้ว รัสเซียส่งออกก๊าซธรรมชาติ 6.7 เปอร์เซ็นต์ไปยังจีน เป็นปริมาณ 16,500 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือราว 12.07 ล้านตัน คิดเป็นราว 5 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการก๊าซของจีน

รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกถ่านหินเป็นลำดับสองของจีน ข้อมูลศุลกากรระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว จีนนำเข้าถ่านหินจากรัสเซีย 15.25 ล้านตัน คิดเป็น 4.72 เปอร์เซ็นต์ของถ่านหินทั้งหมดที่จีนนำเข้า

เกาหลีใต้

เมื่อปีที่แล้ว รัสเซียเป็นประเทศส่งออกน้ำมันดิบลำดับสี่ของเกาหลีใต้ ต่อจากซาอุดีอาระเบีย สหรัฐฯ และคูเวต ข้อมูลจากสมาคมการค้าระหว่างประเทศแห่งเกาหลี หรือ KITA ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว เกาหลีใต้นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียราว 7.92 ล้านตัน มูลค่าราว 42,700 ล้านดอลลาร์

KITA ยังระบุด้วยว่า เมื่อปีที่แล้ว เกาหลีใต้นำเข้าก๊าซ 2.87 ล้านตันจากรัสเซีย ทำให้รัสเซียเป็นประเทศส่งออกก๊าซลำดับหกของเกาหลีใต้

นอกจากนี้ รัสเซียยังเป็นประเทศส่งออกถ่านหินเป็นลำดับสองของเกาหลีใต้เมื่อปีที่ผ่านมา รองจากออสเตรเลีย รัสเซียส่งออกถ่านหิน 21.95 ล้านตัน มูลค่าราว 25,600 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 17.5 เปอร์เซ็นต์ของถ่านหินทั้งหมดที่เกาหลีใต้นำเข้า

Asian buyers of Russian oil, gas and coal infographic
Asian buyers of Russian oil, gas and coal infographic

ญี่ปุ่น

ข้อมูลศุลกากรญี่ปุ่นระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว รัสเซียเป็นประเทศส่งออกถ่านหินประเภทให้ความร้อนเป็นลำดับสองของญี่ปุ่น โดยส่งออกถ่านหิน 12.48 เปอร์เซ็นต์ ของถ่านหินนำเข้าของญี่ปุ่นทั้งหมด

รัสเซียเป็นประเทศส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นลำดับห้าของญี่ปุ่น คิดเป็น 3.63 เปอร์เซ็นต์และ 8.84 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของญี่ปุ่นตามลำดับ

ปริมาณน้ำมันดิบที่รัสเซียส่งออกไปยังญี่ปุ่น คิดเป็น 4.1 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำมันทั้งหมด และปริมาณก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียส่งออกไปยังญี่ปุ่น คิดเป็น 7.2 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซทั้งหมด

เวียดนาม

เมื่อปีที่แล้ว รัสเซียเป็นผู้ส่งออกถ่านหินเป็นลำดับสามของเวียดนาม รองจากออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ข้อมูลศุลกากรเวียดนามระบุว่า รัสเซียส่งออกถ่านหินไปยังเวียดนาม 3.59 ล้านตัน คิดเป็น 9.9 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณถ่านหินนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม

เวียดนามไม่ได้นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว แต่บริษัทปิโตรเวียดนาม ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐ ถือหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ในกิจการร่วมค้าน้ำมันกับบริษัทซารุเบชเนฟท์ (Zarubezhneft) บริษัทน้ำมันของรัฐบาลรัสเซีย ในเขตปกครองตนเองเนเนตส์ของรัสเซีย ซึ่งจนถึงช่วงกลางปีที่แล้ว ได้ผลิตน้ำมันดิบแล้วทั้งสิ้น 30 ล้านตัน นับตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อปีค.ศ. 2008


อินเดีย

ข้อมูลจากบริษัทการตลาดพลังงาน Iman Resources ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว อินเดียนำเข้าถ่านหินประเภทให้ความร้อนจากรัสเซีย 1.8 ล้านตัน ลดลงจากเมื่อปีค.ศ. 2020 ที่อยู่ที่ 2.5 ล้านตัน

ปริมาณถ่านหินประเภทให้ความร้อนนำเข้าจากรัสเซียของอินเดียเมื่อปีที่แล้ว ลดลงเหลือ 1.3 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณถ่านหินประเภทให้ความร้อนทั้งหมด จากเมื่อปีค.ศ. 2020 ที่อยู่ที่ 1.6 เปอร์เซ็นต์

เมื่อปีที่ผ่านมา อินเดียนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 43,400 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นราว 1 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำมันนำเข้าทั้งหมดของอินเดีย

รัสเซียยังส่งออกก๊าซธรรมชาติปริมาณ 0.2 เปอร์เซ็นต์ให้แก่อินเดีย โดยบริษัท GAIL ซึ่งเป็นบริษัทก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลอินเดีย ทำสัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวปีละ 2.5 ล้านตัน เป็นเวลา 20 ปีกับบริษัทก๊าซพรอม (Gazprom) บริษัทพลังงานของรัฐบาลรัสเซีย โดยเริ่มทำสัญญาเมื่อปีค.ศ. 2018

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG