Joy Ezeilo ผู้จัดทำรายงานพิเศษด้านปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติ ระบุว่ารัฐบาลไทยมีความคืบหน้าไปมากในการวางนโยบายต่อต้านปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ แต่ปัญหาที่มีอยู่คือเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติให้สัมฤทธิผลได้จริง โดยเฉพาะในส่วนของการปกป้องแรงงานอพยพและจัดการปัญหาคอรัปชั่น
ภายหลังจากการประเมินความคืบหน้าในการป้องกันปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ในประเทศไทยเป็นเวลา 10 วัน คุณ Joy Ezeilo สรุปว่าไทยยังคงเป็นทั้งแหล่งที่มา จุดผ่าน และจุดหมายปลายทางของขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ โดยเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์ในประเทศไทยมาจากกัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม และส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังไต้หวัน ฮ่องกง เยอรมนี อิสราเอล ญี่ปุ่น อาฟริกาใต้และสหรัฐ
ผู้จัดทำรายงานของสหประชาชาติกล่าวว่า ภายในประเทศไทยเองนั้นปัญหาการลักลอบค้าแรงงานเด็กยังคงรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวเขาซึ่งถูกบังคับหรือล่อลวงให้ค้าประเวณีหรือเข้าสู่ธุรกิจทางเพศอย่างผิดกฎหมาย ขณะที่การลักลอบค้ามนุษย์อีกส่วนหนึ่งมุ่งเน้นที่แรงงานต่างด้าว เพื่อจัดหาคนรับใช้ภายในบ้าน ขอทาน ผู้ถูกบังคับให้แต่งงานโดยไม่สมัครใจและคนรับอุ้มท้องแทน
รายงานยังบอกด้วยว่า ปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคการเกษตร การก่อสร้างและการประมง เป็นธุรกิจมืดที่คาดว่ามีมูลค่ามหาศาลหลายล้านดอลล่าร์
องค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO พยายามสนับสนุนโครงการปกป้องแรงงานอพยพจากหลายประเทศ เช่นกัมพูชา จีน ลาว มาเลเซีย เวียดนามและไทย แต่ปัญหาคือบางประเทศยังขาดกฎหมายที่ครอบคลุมในด้านนี้ คุณ Nilim Baruh ที่ปรึกษาของสำนักงาน ILO ในกรุงเทพฯ ระบุว่ารัฐบาลบางประเทศเช่นลาวและกัมพูชายังไม่สามารถออกกฎหมายที่นำมาใช้ปกป้องแรงงานต่างด้าวและการลักลอบค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรมได้
สำหรับรายงานประเมินความคืบหน้าในการป้องกันปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ในประเทศไทยฉบับนี้ ซึ่งจัดทำโดยผู้เขียนรายงานพิเศษของสหประชาชาติ คุณ Joy Ezeilo คาดว่าจะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติในช่วงกลางปีหน้า