ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาติเอเชียกำลังนิยมแผงโซล่าลอยน้ำ


FILE - Workers install photovoltaic solar panels at the Gujarat solar park under construction in Charanka village in Patan district of the western Indian state of Gujarat, India.
FILE - Workers install photovoltaic solar panels at the Gujarat solar park under construction in Charanka village in Patan district of the western Indian state of Gujarat, India.

เทคโนโลยีแผงโซล่าลอยน้ำกระตุ้นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในเอเชีย

ตอนที่รัฐเกระละ ทางใต้ของอินเดียประสบกับภัยน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีคนเสียชีวิตมากกว่า 480 คนเเละสร้างความเสียหายกว่าห้าพันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่สิ่งหนึ่งที่รอดจากภัยน้ำท่วมครั้งนั้นโดยไม่เสียหายเเม้เเต่น้อยคือแผงโซล่าลอยน้ำของอินเดียที่ติดตั้งเหนือผิวน้ำในเขื่อนกั้นน้ำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

เชลีช เค. มิชรา (Shailesh K. Mishra) ผู้อำนวยการด้านระบบพลังงานที่หน่วยงานรัฐบาล Solar Energy Corporation of India กล่าวว่าขณะที่อินเดียกำลังประสบกับสภาพภูมิอากาศที่ผกผันมากขึ้น ความต้องการใช้ไฟฟ้าได้เพิ่มสูงขึ้นและอินเดียกำลังหันมาใช้แผงโซล่าลอยน้ำเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกระเเสไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีนี้

เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวจากรอยเตอร์สว่าอินเดียกำลังวางแผนติดตั้งแผงโซล่าครั้งใหญ่ที่เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำหลายแห่งเเละตามลำน้ำอีกหลายสายในรัฐต่างๆ

เขากล่าวว่าค่าลงทุนด้านการติดตั้งแผงโซล่าลอยน้ำได้ลดลงมาเกือบเท่ากับการติดตั้งแผงโซล่าบนพื้นดินเเละจะได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าขณะที่ประเทศต่างๆ กำลังเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเเสงอาทิตย์มากขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอแก่ความต้องการพลังงานเเละเพื่อลดภาวะโลกร้อน แผงโซล่าแบบลอยน้ำที่ติดตั้งที่เขื่อนหรือตามเเนวชายฝั่งทะเลกำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเอเชีย

โอลิเวอร์ ไนท์ (Oliver Knight) ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานอาวุโสแห่งธนาคารโลกกล่าวว่าแผงโซล่าลอยน้ำมีการติดตั้งในจีนไปจนถึงหมู่เกาะมัลดีฟส์เเละอังกฤษเพราะไม่เจอกับปัญหาขาดเเคลนที่ดินอย่างที่เกิดกับการติดตั้งเเผงโซล่าแบบดั้งเดิม

เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับรอยเตอร์สว่าแม่น้ำหรือลำน้ำมีอยู่เเล้วไม่จำเป็นต้องไปเสาะหา เขากล่าวว่าการติดตั้งแผงโซล่าบนผิวน้ำ ส่วนใหญ่จะคลุมพื้นที่ได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เขื่อนทั้งหมด ช่วยลดการระเหยของน้ำลงได้ด้วยซึ่งเป็นผลดีต่อพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ

ยกตัวอย่าง รัฐบาลชุดใหม่ของปากีสถานที่กำลังพูดถึงการใช้แผงโซล่าลอยน้ำเหนือผิวน้ำในเขื่อนหลายแห่งใกล้กับเมืองคาราจีเเละเมืองไฮเดอราบัดเพื่อผลิตไฟฟ้าที่เป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากเเละช่วยลดปัญหาการสูญเสียน้ำเนื่องจากอากาศที่ร้อนขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน น้ำในเขื่อนที่ปากีสถานเกิดการระเหยไปในอากาศสูงขึ้นเพราะอากาศที่ร้อนจัด

ธนาคารโลกชี้ว่า ขณะนี้ จีนติดตั้งแผงโซล่าลอยน้ำที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ 1.1 กิกะวัตต์มากที่สุด แต่ศักยภาพของเทคโนโลยีนี้สูงกว่านี้มาก โดยไนท์ ผู้เชี่ยวชาญแห่งธนาคารโลกกล่าวว่าหากติดตั้งแผงโซล่าบนผิวน้ำของเขื่อนทั่วโลกเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 400 กิกะวัตต์ ซึ่งถือว่าสูงมาก

อย่างไรก็ตาม ความนิยมติดตั้งแผงโซล่าลอยน้ำสร้างความกังวลว่าแผงโซล่าจะกันไม่ให้แสงอาทิตย์ลงไปในน้ำ ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศวิทยา หรือ ระบบการผลิตไฟฟ้าอาจไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปียก โดยเฉพาะจากน้ำเค็มหากติดตั้งตามชายฝั่งทะเล

แต่ผู้ที่เห็นด้วยบอกว่าขณะที่จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งเเวดล้อม พวกเขามองว่าการติดตั้งแผงโซล่าบนผิวน้ำที่กินพื้นที่ไม่มากนักในขณะนี้ ยังไม่เป็นปัญหาใหญ่

มิชรา เจ้าหน้าที่อินเดียกล่าวว่าคนกังวลว่าแผงโซล่าลอยน้ำจะส่งผลกระทบต่อปลาเเละต่อคุณภาพน้ำ เเต่มาขณะนี้ ความกังวลนี้ในอินเดียได้หมดไป เขากล่าวว่าอินเดียผลิตแผงโซล่าขึ้นใช้เองเเละกำลังตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ในการติดตั้งขึ้นใช้เองด้วย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงมาได้อย่างมาก

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG