ลิ้งค์เชื่อมต่อ

7 ปีหลังเหตุการณ์สึนามิ การรับมือภัยพิบัติในเอเซียยังคงเปราะบาง


7 ปีหลังเหตุการณ์สึนามิ การรับมือภัยพิบัติในเอเซียยังคงเปราะบาง
7 ปีหลังเหตุการณ์สึนามิ การรับมือภัยพิบัติในเอเซียยังคงเปราะบาง

ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติชี้ว่าความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติในแถบเอเซียแปซิฟิกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้เกิดเป็นปัญหาท้าทายยิ่งขึ้นสำหรับประเทศในเอเซียในการรับมือและฟื้นฟูภายหลังภัยพิบัติครั้งใหญ่ ดังเช่นที่เกิดในฟิลิปปินส์และไทยเมื่อไม่นานนี้

ในขณะที่ประเทศไทยโดยเฉพาะแถบรอบๆกรุงเทพฯกำลังพยายามฟื้นฟูบูรณะและทำความสะอาดบ้านเรือนภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี แต่ดูเหมือนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่างๆจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วนัก อาจารย์จรัญ ลิขิตรัตนาภรณ์ คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเมืองเอก ระบุว่ายังต้องมีการบูรณะฟื้นฟูอีกมากในระยะยาวซึ่งอาจใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี ขณะที่บริษัทธุรกิจบางแห่งต้องปิดตัวถาวรเนื่องจากไม่มีเงินกลับมาลงทุน


มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยเกือบ 800 คน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียราว 45,000 ล้านดอลล่าร์หรือประมาณ 1,350,000 ล้านบาท นักวิเคราะห์เชื่อว่าจนถึงขณะนี้น่าจะมีคนตกงานจากภัยพิบัติครั้งนี้ราว 1 ล้านคน ทางด้านสหประชาชาติระบุว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในประเทศไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนามที่กินเวลาร่วม 5 เดือนราว 20 ล้านคน

ส่วนที่ฟิลิปปินส์ เหตุการณ์พายุโซนร้อนพัดถล่มหลายพื้นที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คนและมีผู้อพยพย้ายถิ่นมากกว่า 300,000 คนซึ่งยังรอคอยความช่วยเหลือฉุกเฉิน ภัยธรรมชาติเหล่านี้เมื่อประกอบกับเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มหลายประเทศในเอเซียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 7 ปีก่อน ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าเอเซียยังคงเปราะบางต่อการรับมือภัยธรรมชาติใหญ่ๆ

ดร.พิจิตต รัตตกุล ผอ.ศูนย์ภัยพิบัติเอเซียชี้ว่าแม้ได้มีความคืบหน้าไปบ้างเกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติหลังจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 7 ปีก่อน แต่ก็ยังมีเรื่องต้องทำอีกมากเมื่อเทียบกับภัยธรรมชาติซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ด้านคุณ Amit Jha ผอ.ร่วมสถาบันจัดการภัยธรรมชาติอินเดีย เห็นว่าการที่สภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวนยิ่งขึ้น หมายความว่ามาตรการบรรเทาภัยพิบัติในอดีตอาจใช้ไม่ได้ผลในอนาคต

รายงานของธนาคารโลกชี้ว่าแถบเอเซียแปซิฟิกมีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติราว 80% ของผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติทั่วโลก คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านคนในปี ค.ศ 2050 โดยพื้นที่เขตนาครใหญ่คือจุดเสี่ยงที่สุดต่อความเสียหายจากภัยธรรมชาติ จึงแนะนำให้ปรับมาตรฐานการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนให้แข็งแรงยิ่งขึ้น และเตรียมความพร้อมของภาคประชาชนเพื่อลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติในอนาคต

XS
SM
MD
LG