ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เตือนอันตรายต่อนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และนักจัดองค์กรชุมชนที่ขัดขวางโครงการพัฒนารายใหญ่ๆ


นักต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคำเตือนออกมาว่า กำลังมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นระหว่างนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและนักพัฒนาชุมชนกับเจ้าของโครงการพัฒนารายใหญ่ๆ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นตามมาคือการฆาตกรรมหลายรายในช่วงไม่กี่ปีมานี้

International Federation for Human Rights มีตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลกัมพูชาได้อนุมัติให้ที่ดินมากกว่า 13 ล้านไร่แก่บริษัทธุรกิจมากกว่า 200 บริษัทแล้ว ในขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มบอกว่าตัวเลขจริงอาจสูงถึง 24 ล้านไร่ หรือ ราวๆ 20% ที่ใช้ในการเพาะปลูกของประเทศ

Shalmali Guttal นักวิจัยอาวุธของ Focus on Global South บอกว่า การข่มขู่นักต่อสู้เคลื่อนไหวในกัมพูชาเป็นเรื่องธรรมดา และว่าตัวแทนชุมชนท้องถิ่น นักพิทักษ์สิทธิมนุษยชน นักข่าว และแม้กระทั่งสมาชิกรัฐสภาถูกข่มขู่เป็นประจำ เมื่อพยายามต่อสู้ตามกฎหมายเพื่อพิทักษ์บ้านที่อยู่ ที่ดินและป่า และว่ามีความขัดแย้งที่เกี่ยวกับที่ดินและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายปีมานี้

เศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายความว่า มีการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ โดยมีนักลงทุนชาวต่างชาติสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

นักวิจัย Shalmali Guttal บอกว่า การเจริญเติบโตและการพัฒนาดังกล่าว มักจะทำให้ชุมชนตามท้องถิ่นตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบอย่างมาก

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือเรื่องเหมืองทองแดง Letpadaung ซึ่งทางการทหารพม่าร่วมลงทุนกับนักลงทุนจากจีน โดยทางการพม่าต้องโยกย้ายหมู่บ้าน 26 แห่ง เวนคืนที่ดินมากกว่าสองหมื่นไร่ และออกหมายจับนักต่อสู้เคลื่อนไหว 3 คนที่คัดค้านโครงการดังกล่าว

Phil Robertson รองผู้อำนวยการสำนักงาน Human Rights Watch ในเอเชีย ให้ความเห็นว่า ชนชั้นสูงของพม่า ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้ติดต่อเกี่ยวข้องกับธุรกิจนอกประเทศ จู่ๆก็พบว่าตนมีเส้นสายและความสามารถที่จะผลักดันให้โครงการธุรกิจเดินหน้าไปได้ เจ้าหน้าที่ของ HRW ผู้นี้บอกว่า คนกลุ่มนี้กำลังทำเงิน เพื่อส่งเสริมสถานภาพของครอบครัวให้เป็นปึกแผ่นต่อไปได้อีกหลายชั่วคน

และเมื่อต้นปีนี้ลาวเป็นข่าวเมื่อนักพัฒนาชุมชน นายสมบัด สมพอน หายตัวไป จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เป็นที่ทราบว่า เขาหายไปไหน

ส่วนในประเทศไทย นักกฎหมาย ศรีสุวรรณ จรรยา บอกว่านักต่อสู้เคลื่อนไหวมากกว่า 20 คนถูกสังหารในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เพราะรณรงค์ต่อต้านโครงการพัฒนาต่างๆ นักกฎหมายไทยผู้นี้ระบุชี้ถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างนักการเมืองกับนักธุรกิจในท้องถิ่นว่า คนที่จะได้รับอันตรายมากที่สุดคือประชาชน

กลุ่มนักกิจกรรมเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติเข้าไปมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการปกป้องนักพัฒนาชุมชนจากการข่มขู่ทำร้ายที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่คนกลุ่มนี้ก็ยอมรับด้วยว่า เมื่อเดิมพันทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในโครงการพัฒนาใหญ่ๆมีสูงมาก อันตรายต่อผู้ที่แสดงความเห็นคัดค้านก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป






XS
SM
MD
LG