ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คาดว่าคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะมีมติเรื่องการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในการประชุมเดือนหน้านี้


คาดว่าคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะมีมติเรื่องการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในการประชุมเดือนหน้านี้
คาดว่าคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะมีมติเรื่องการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในการประชุมเดือนหน้านี้

คาดกันว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะมีมติเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรีในการประชุมเดือนหน้านี้ เขื่อนไซยะบุรีที่รัฐบาลลาวต้องการจะสร้างในภาคเหนือของประเทศ เป็นเพียงหนึ่งใน 11 เขื่อนที่มีแผนจะสร้างขึ้นในแม่น้ำโขงตอนล่าง นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายรายให้ความเห็นว่า ถ้าปล่อยให้สร้างเขื่อน จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมตามรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์

แม้ประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกำลังเผชิญหน้ากับอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงหลายสิบปีมานี้ ก็ยังไม่มีใครลืมปัญหาเรื่องการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าไซยะบุรี และเป็นที่คาดกันว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะมีมติเกี่ยวกับเขื่อนแห่งนี้ในการประชุมเดือนหน้านี้

เขื่อนไซยะบุรีที่รัฐบาลลาวต้องการจะสร้างในภาคเหนือของประเทศ เป็นเพียงหนึ่งใน 11 เขื่อนที่มีแผนจะสร้างขึ้นในแม่น้ำโขงตอนล่าง อาจารย์ Carl Middleton ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ถ้าปล่อยให้สร้างเขื่อน จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมตามรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์

อาจารย์ Carl บอกว่า โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ๋ต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง เส้นทางอพยพของปลา โดยเฉพาะปลาบึก จะถูกสะกัดกั้น และรายงานคาดว่า พันธุ์ปลาราวๆ 41 ชนิดจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

โครงการเขื่อนไซยะบุรี มูลค่า 3.5 พันล้านดอลล่าร์นี้ จะเป็นเขื่อนแรกที่สร้างขึ้นในแม่น้ำโขงนอกประเทศจีน คาดว่าเขื่อนจะผลิตไฟฟ้า 1,260 เมกะวัตต์ และประเทศไทยจะเป็นผู้ซื้อราวๆ 95%

เวียตนามและกัมพูชาร่วมขบวนกับนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมตำหนิวิพากษ์โครงการสร้างเขื่อนแห่งนี้ โดยกล่าวว่า จะเป็นภัยคุกคามต่อปลา ซึ่งเป็นแหล่งโภชนาการสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งโปรทีนของประชาชนราวๆ 40 ล้านคน

และว่า ประชาชนราวๆสองแสนคนจะได้รับความกระทบกระเทือนโดยตรงจากเขื่อน คนเหล่านี้ และผู้คนอีกนับล้านอาศัยระบบนิเวศของแม่น้ำโขงสำหรับการยังชีพ แต่ลาวยังยืนยันที่จะสร้างเขื่อนแห่งนี้อยู่ต่อไป

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศลาว จะเป็นผู้ลงมติขั้นสุดท้ายว่าจะมีการก่อสร้างเขื่อนหรือไม่ หลังจากที่พิจารณาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ

คณะกรรมาธิการชุดนี้มีผู้แทนจากกัมพูชา ลาว ประเทศไทย และเวียตนามเป็นสมาชิก และคาดว่าจะลงความเห็นในเรื่องการสร้างเขื่อนในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนหน้านี้

คุณ ศรีสุวรรณ ควรขจร ผู้อำนวยการร่วมของกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง กล่าวว่า การประชุมในเดือนหน้า อาจส่งผลกระทบต่อการเมืองในภูมิภาคนี้อย่างลึกซึ้ง และว่า การพิจารณาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง จะต้องพิจารณาเขื่อนทุกเขื่อน เพราะเมื่อสร้างขึ้นหนึ่งเขื่อนแล้ว ก็จะนำไปสู่การสร้างเขื่อนต่อๆไป เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาผลกระทบของทุกเขื่อน เพื่อที่จะได้ตระหนักว่า การประชุมในเดือนพฤศจิกายน ไม่ใช่การประชุมทางเทคนิค และการตัดสินใจก็จะเป็นการตัดสินใจทางการเมือง ที่จะปรับโฉมหน้าการเมืองในภูมิภาคนี้

รัฐบาลเวียตนามกล่าวแสดงความวิตกกังวลกับการเพาะปลูกข้าวในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง และเรียกร้องให้ระงับการสร้างเขื่อนจนกว่าจะเข้าใจผลกระทบได้อย่างเต็มที่

คุณเหวียน หู เตียน นักปฐพีวิทยาและผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินชุ่มน้ำจากเมือง Can Thor ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง เกรงว่า การสร้างเขื่อนจะเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยม

นักวิชาการผู้นี้บอกว่า ภัยที่ว่านี้เป็นภัยใหญ่หลวงที่สุดต่อบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมที่เคยมีมา การสูญเสียสำคัญรวมถึงตะกอนและการประมง

บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงเป็นแหล่งผลิตอาหารครึ่งหนึ่งให้กับเวียตนามทั้งประเทศ รวมทั้ง 90% ของข้าวที่เวียตนามส่งออก อุตสาหกรรมการประมงในบริเวณดังกล่าวยังเป็นแหล่งผลิตสำคัญทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคด้วย

XS
SM
MD
LG