ในการแข่งขันฟุตบอลโลกคราวนี้ การตัดสินชี้ขาดของกรรมการผู้ตัดสินหลายครั้ง เป็นที่น่าฉงนใจ ทำให้มีเสียงเรียกร้อง ให้นำวิดิทัศน์ที่ถ่ายไว้มาเปิดดูกันใหม่
ในการแข่งขันฟุตบอลโลกคราวนี้ การตัดสินชี้ขาดของกรรมการผู้ตัดสินหลายครั้ง เป็นที่น่าฉงนใจ ซึ่งทำให้มีเสียงเรียกร้องกันใหม่ว่า ในสถานการณ์บางอย่างให้นำวิดิทัศน์ที่ถ่ายไว้มาเปิดดูกันใหม่ บรรณาธิการฝ่ายกีฬาของ วอยซ ออฟ อเมริกา Parke Brewer ส่งรายงานเรื่องนี้มาจากนครโจฮานเนสเบิร์ก
ฟีฟ่า ซึ่งกำกับดูแลด้านฟุตบอลของโลก เคยคิดถึงเรื่องการนำวิดิทัศน์ที่ถ่ายไว้มาเปิดดูใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อดูว่าลูกฟุตบอล กลิ้งเข้าประตูไปโดยสมบูรณ์หรือไม่? แต่จนแล้วจนรอดฟีฟ่าก็มิได้ทำอย่างที่คิด ทั้งๆที่กีฬาประเภทอื่นๆ รวมทั้งเบสบอล บาสเกตบอลและฟุตบอลอเมริกันต่างก็นำเทคโนโลยีนี้มาใช้กันทั้งนั้น เพื่อให้การตัดสินชี้ขาดครั้งสำคัญๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง
ช่างภาพโทรทัศน์ชาวแอฟริกาใต้ ไบรอน บลั้นท์ กล่าวต่อ วอยซ ออฟ อเมริกาว่า ในแอฟริกาใต้นั้น การใช้วิธีนำวิดิทัศน์มาเปิดดูใหม่นี้เขาเรียกกันว่า “the third umpire” หรือกรรมการกลางผู้ทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาด ซึ่งเขาอยากให้นำมาใช้ในวงการฟุตบอลมาก ทั้งนี้เพราะการตัดสินของกรรมการผู้ตัดสินผิดพลาดได้ เขากล่าวเสริมว่า ถึงเวลาที่ฟีฟ่าจะต้องเข้ามาสู่โลกยุคปัจจุบันได้แล้ว
คุณ ไบรอน บลั้นท์ กล่าวไว้ตอนนี้ว่า “อย่างที่เราเห็นๆ กันว่าเมื่อนำวิดิทัศน์ที่ถ่ายไว้มาดูอีก เราเห็นเลยว่าลูกฟุตบอลกลิ้งผ่านเส้นประตู และการแข่งขันระหว่างทีมอังกฤษกับทีมเยอรมันควรจะเสมอกัน 2 ประตูต่อ 2 ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น การแข่งขันอาจจะเปลี่ยนโฉมไปก็ได้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนกฎข้อบังคับนั้น และเราต้องท้าทายถ้าฟีฟ่าไม่ยอมรับเรื่องนั้น”
ในหมู่แฟนที่ชอบดูฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจรวมถึงคุณ ทริช มาโลน ชาวเมืองเบอร์มิงแฮมที่อังกฤษ คุณฟาบิโอ คาเปลโล โค้ชชาวอิตาลีของทีมฟุตบอลอังกฤษ และกัปตันของทีมฟุตบอลอังกฤษ สตีเวน เยอร์หราด ต่างก็เรียกร้องให้ ฟีฟ่านำเทคโนโลยีที่จะช่วยชี้ให้เห็นว่าลูกฟุตบอลกลิ้งผ่านเส้นประตูจริงหรือไม่นี้มาใช้
นอกจากฟีฟ่าแล้ว บรรดาแฟนฟุตบอลที่ชอบการแข่งขัน ที่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนเดิมๆ ก็ไม่ต้องการให้นำเทคโนโลยีดังกล่าว มาใช้กับการแข่งขันฟุตบอลเช่นกัน คุณโจนาธาน ฟอร์ด หัวหน้าฝ่ายบริหารของสมาคมฟุตบอลแห่งเวลส์ เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้ในวงการฟุตบอล
เขากล่าวว่า กรรมการผู้ตัดสินต้องการความช่วยเหลือ ที่จะทำให้ตัดสินได้ดียิ่งขึ้นก็จริง แต่เขาไม่แน่ใจว่าการนำเทคโนยีนั้นมาใช้จะช่วยในเรื่องนั้นได้
แต่คุณ เจอร์รี่ ดิคคินสัน ชาวนครพิตส์เบิร์ก ที่สหรัฐ ผู้เคยเป็นนักฟุตบอลของทีมวิทยาลัยโฮลีคร๊อสอยู่สี่ปี เคยไปดูการแข่งขันฟุตบอลโลกมาหลายนัด และตระหนักดีว่าประธานฟีฟ่า เซ็พพ์ แบล็ตเตอร์ก็ไปดูการแข่งขันฟุตบอลโลกนัดที่ทีมอังกฤษ แข่งกับทีมเยอรมันและเห็นความไม่ยุติธรรมตลอดจนได้ยินเสียงเอะอะโวยวาย แสดงความเดือดดาลของแฟนๆ ของทีมอังกฤษด้วยเชื่อว่าเรื่องนั้นควรจะทำให้ท่านประธาน ฟีฟ่าเกิดความสำเหนียกว่าต่อไป จะต้องทำให้ผลของการแข่งขันฟุตบอลนัดที่สำคัญๆไม่เป็นที่ทุ่มเถียงขัดแย้งกันอีก
คุณ เจอร์รี่ ดิคคินสัน กล่าวไว้ตอนนี้ว่า “เรื่องนั้นเกี่ยวพันกับการใช้ เทคโนโลยีไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม คุณรู้ๆ อยู่นี่นาว่าทุกคนมองเห็นได้เมื่อมีการนำวิดิทัศน์มาฉายใหม่ เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมาใช้ ดังนั้น คุณ เซ็พพ์ แบล็ตเตอร์ ในฐานะที่เป็นประธานฟีฟ่า ผมเกือบจะมั่นใจได้เลยว่าเขากำลังครุ่นคิดไตร่ตรองเรื่องที่ว่านั้น อยู่ในสมองของเขาขณะนี้ เขาจำเป็นจะต้องนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้ ระหว่างการแข่งขันชิงแชมเปี้ยนเทนนิสวิมเบิลดันที่อังกฤษ ซึ่งมีขึ้นหลังจากทีม
ฟุตบอลอังกฤษถูกกรรมการผู้ตัดสินชี้ขาดว่า ยิงประตูทีมเยอรมันไม่เข้านั้นแล้วหนึ่งวัน นักเทนนิสหญิงของสหรัฐ วีนัส วิลเลียม นำวิดิทัศน์ของเธอตอนหนึ่ง มาฉายให้ดูใหม่เพื่อประท้วงการที่ผู้กำกับเส้นชี้ขาดว่าเธอตีลูกออกนอกเส้น ผลปรากฎว่ามีการเปลี่ยนคำตัดสินชี้ขาดนั้นเสียใหม่ และให้วีนัส วิลเลียมได้คะแนนไป ผู้ประกาศทางโทรทัศน์กล่าวว่าเรื่องนี้ เราต้องขอบคุณเทคโนโลยีและยังกล่าวเสริมด้วยว่า “ท่านประธานฟีฟ่า เซ็พพ์ แบล็ตเตอร์ ท่านกำลังดูรายการนี้อยู่หรือเปล่า?”