คณะมนตรีความมั่นคง องค์การสหประชาชาติมีมติใหม่ที่ 1929 เพื่อลงโทษอิหร่านเป็นรอบที่ 4 เพื่อให้อิหร่านยุติโครงการนิวเคลียร์ แต่บราซิลและตรุกีซึ่งเป็นสองประเทศที่ยื่นข้อเสนอ เพื่อเจรจาให้อิหร่านส่งแร่ยูเรเนียมบางส่วน ไปยังตรุกีเพื่อแลกเปลี่ยนกับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่อิหร่านจะนำไปใช้ในเครื่องปฏิกรณ์ทางการแพทย์ ได้ออกเสียงคัดค้านมติลงโทษครั้งใหม่นี้ โดยผู้แทนของบราซิลประจำองค์การสหประชาชาติ แสดงความเสียใจว่าข้อเสนอดังกล่าวยังไม่มีโอกาสได้รับการพิจารณาอย่างเพียงพอ ส่วนทูตตรุกีประจำองค์การสหประชาชาติก็กล่าวว่า ถึงแม้ตรุกีจะออกเสียงคัดค้านมติลงโทษอิหร่านครั้งใหม่นี้ แต่อิหร่านยังจำต้องตอบคำถามของนานาประเทศ ซึ่งยังวิตกกังวลเรื่องวัตถุประสงค์ของโครงการนิวเคลียร์ที่ว่านี้อยู่ และนางซูซาน ไรซ ทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติกล่าวว่ามติลงโทษอิหร่านรอบที่สี่นี้ เป็นเรื่องที่สมควร เพราะอิหร่านยังไม่ยอมระงับการเสริมคุณภาพแร่ยูเรเนียมแต่กลับมีพฤติกรรมที่ขัดขืนดื้อดึงมากขึ้น
มติที่ 1992 ดังกล่าวมุ่งเพิ่มความกดดันต่ออิหร่าน ให้ยุติกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ และกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา เช่นมีการห้ามซื้อขายและส่งอาวุธให้กับอิหร่านเพิ่มเติม เพิ่มมาตรการตรวจสอบสินค้า และมีข้อห้ามด้านการประกันภัยและธุรกรรมด้านการเงิน กับบุคคลและองค์กรต่างๆ ของอิหร่านรวม 40 รายชื่อด้วย แต่อิหร่านได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า โครงการนิวเคลียร์ของตนมีวัตถุประสงค์ในทางทหาร และทูตอิหร่านประจำองค์การสหประชาชาติกล่าวว่า ไม่มีความกดดันใดใดที่จะสามารถทำลายความมุ่งมั่นของอิหร่านในการใช้ และปกป้องสิทธิตามกฎหมายซึ่งแยกออกไปไม่ได้ของตน
รับฟังรายละเอียดเพิ่มเติมจากคุณจำเริญ ตัณฑ์สมบุญ