ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยังมีผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กิสในพม่าราวหนึ่งแสนครอบครัว ที่ยังไม่มีบ้านอยู่อย่างถาวร


เมื่อกว่าสองปีที่แล้ว พายุไซโคลนนาร์กิสสังหารชาวพม่าไปมากกว่าหนึ่งแสนสี่หมื่น และทำให้ผู้คนอีกราวๆ สามล้านคนไม่มีที่พักอาศัย

หลายประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือ แต่จนทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติกล่าวว่า ยังมีผู้ประสบภัยพิบัติในครั้งนั้นอีกหนึ่งแสนครอบครัว หรือคนอีกล้านครึ่งที่ยังไม่มีบ้านที่อยู่อย่างถาวร

และเจ้าหน้าที่สหประชาชาติที่นครเจนีวา กำลังพยายามกระตุ้นหนุนให้ประเทศต่างๆทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพม่า

นาย Bishow Parajuli ผู้ประสานงานการให้ความช่วยเหลือของสหประชาชาติกล่าวว่า ยังมีการขาดอาหาร ทุโภชนา คนว่างงาน และความยากจนอยู่อย่างมาก

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกล่าวว่า ผู้ที่ประสบภัยจากนาร์กิส เก็บสิ่งของจากบ้านเก่า เช่น ผ้าน้ำมัน เศษไม้ ไม้ไผ่ ใบจาก และของอื่นๆ ที่นานาชาติให้ความช่วยเหลือ ปะติดปะต่อ ทำเป็นที่อยู่ ซึ่งถือว่าเป็นที่พักชั่วคราว

และว่า ปัญหาเรื่องที่พักอาศัยของชาวพม่า เป็นเรื่องที่ได้รับการช่วยเหลือน้อยที่สุดจากประชาคมนานาชาติ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ศกก่อน องค์การสหประชาชาติเริ่มโครงการรณรงค์ เพื่อการฟื้นฟูบูรณะพม่าเป็นเวลาสามปี โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 691 ล้านดอลล่าร์ ในขณะนี้ โครงการยังขาดเงินอยู่อีกห้าร้อยล้านดอลล่าร์

และแม้โครงการอาหารของสหประชาชาติจะตั้งข้อสังเกตว่า พม่าเป็นประเทศที่ผลิตอาหารได้เกินกว่าความต้องการของประชาชนภายในประเทศ ปัญหาสำคัญอันหนึ่งของประเทศ คือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้เป็นเพราะคนจำนวนมากเข้าไม่ถึงแหล่งอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในบริเวณห่างไกล

เมื่อปลายปีที่แล้ว โครงการอาหาร และองค์การอาหารและการเกษตรขององค์การสหประชาชาติ ทำการประเมินเรื่องอาหารในพม่า และนาย Chris Kaye ผู้แทนขององค์กรประจำพม่า กล่าวว่า 10 % ของชาวพม่าอยู่ต่ำกว่าขีดความยากจน ซึ่งหมายความว่า ชาวพม่าราวๆ ห้าล้านคนไม่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติผู้นี้กล่าวว่า อัตราในระดับชาติสูงอย่างน่าตกใจถึง 32 % ตีความออกมาแล้ว เท่ากับว่า มีเด็กพม่าที่น้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ ราวๆ 34% และอัตราทุโภชนาอย่างรุนแรงโดยเฉลี่ยสูงถึง 9 % ถ้าดูตัวเลขในบริเวณที่ห่างไกลแล้ว จะสูงกว่านี้มาก แต่ถ้าขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชาวมุสลิมอยู่เป็นส่วนใหญ่แล้ว อัตราทุโภชนาสูงกว่า 18 % ซึ่งสูงกว่าอัตราในประเทศยากจน อย่าง โซมาเลียเสียด้วยซ้ำไป

XS
SM
MD
LG