ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแนวทางที่จะนำไปสู่การปรองดองภายในประเทศไทย


ในช่วงหลังการประท้วง ที่ทำให้กรุงเทพมหานครชงักงันไปเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ความสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย หันไปมุ่งเน้นในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแนวทางที่จะนำไปสู่การปรองดองกันได้ภายในชาติ

รองศาสตราจารย์ Vitold Henish ซึ่งสอนวิชาการบริหารอยู่ที่ Wharton School of Business มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยไว้ว่า อาศัยการลงทุนจากต่างประเทศมาก จะเห็นได้จากการที่ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนตร์และอุตสาหกรรมยาในเอเชีย และก็ยังพึ่งพาอาศัยธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากด้วย เพราะฉะนั้นจะเห็นการลดลงในอุตสาหกรรมเหล่านี้มากทีเดียว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราการโตของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

นาย John Brandon ผู้อำนวยการโครงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมูลนิธิเอเชีย หรือ Asia Foundation เห็นด้วยกับข้อคิดในเรื่องการท่องเที่ยว และให้ข้อมูลเสริมว่า การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามากที่สุด รายได้จากการท่องเที่ยวสูงราวๆ 6% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย และเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างงานให้กับคนเป็นจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่รัฐบาลประมาณว่า การประท้วงเป็นเวลาสองเดือนครั้งนี้ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจราวๆ ห้าพันล้านดอลล่าร์ ซึ่งจะทำให้อัตราการโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ครึ่ง ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 10%

และในขณะที่ประเทศไทยกำลังฟื้นฟูบูรณะกรุงเทพมหานคร นักวิชาการและนักวิเคราะห์ต่างให้ความคิดเห็นในเรื่องที่ว่า จะป้องกันมิให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไรบ้าง

อาจารย์นฤมล ทับจุมพลแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นว่า ในแง่ของนโยบายเศรษฐกิจ คิดว่าประเทศไทยอาจต้องเริ่มคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ แบ่งสรรปันส่วนออกไปในชนบทให้มากขึ้น เพราะในขณะนี้ ชาวชนบทอาจรู้สึกว่า งบประมาณส่วนใหญ่ใช้จ่ายให้กับผู้คนในเขตนาคร นักวิชาการผู้นี้กล่าวไว้ด้วยว่า ประเทศไทยจะไม่มีวันกลับคืนสู่สภาพปกติ หากไม่มีการประนีประนอมกันทางการเมือง

นายสมชาย หอมละออ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน และสมาชิกสภาทนายความแห่งประเทศไทยกล่าวว่า โครงสร้างทางการเมืองของประเทศจะต้องเปิดกว้าง รับกลุ่มการเมืองต่างๆ ให้มากขึ้น รวมทั้งการอนุญาตให้นักการเมือง ที่ถูกห้ามเล่นการเมืองกลับเข้ามามีส่วนร่วมด้วยได้ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น ก็ไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ คนเหล่านั้นจะหันไปหาวิธีอื่น ซึ่งอาจรุนแรง หรือนำไปสู่ความรุนแรง หรือผิดกฎหมายได้

อาจารย์ Vitold Henish กล่าวส่งท้ายไว้ว่า รู้สึกเป็นห่วงประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงสิบปี ยี่สิบปีที่ผ่านมาที่ทั้งวัฒนธรรม และความก้าวหน้าของประเทศตกอยู่ในภาวะเสี่ยง และแม้จะได้เห็นศักยภาพ และความสามารถในการที่จะเอาชนะปัญหาเหล่านี้ได้ ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ตระหนักถึงความเปราะบางของสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยด้วย

XS
SM
MD
LG