ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยและนักวิชาการในสหรัฐฯ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และวิเคราะห์สถานการณ์ประเทศไทย


นักวิจัยและนักวิชาการในสหรัฐฯ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และวิเคราะห์สถานการณ์ประเทศไทย บนเวทีเสวนา “ประเทศไทยในสภาวะเสี่ยง” หรือ “Thailand on the Brink” ที่จัดโดยสำนักงานส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติ ของสหรัฐฯ หรือ National Endowment for Democracy หรือ NED ที่กรุงวอชิงตัน

สำนักงานส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติ ของสหรัฐฯ หรือ National Endowment for Democracy หรือ NED ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนอิสระที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐฯ จัดงานเสวนาในหัวข้อ Thailand on the Brink หรือ ประเทศไทยในสภาวะเสี่ยง เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเชิญนักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกสหรัฐฯ ร่วมฟังการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษา ที่สำนักงานของ NED ใจกลางกรุงวอชิงตัน

นายสุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโส และที่ปรึกษาประจำประเทศไทย องค์การเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่ได้รับเชิญมาบรรยาย ใช้โอกาสนี้อธิบายเชิงวิเคราะห์สถานการณ์ในประเทศไทยจากข้อมูลเชิงลึกในงานวิจัย รวมทั้งอธิบายโครงสร้างทางการเมืองในภาพรวม ตลอดจนความเคลี่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงกับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาการก่อการร้ายจากรัฐบาลไทยในขณะนี้

นอกจากนี้นักวิจัยอาวุโส และที่ปรึกษาประจำประเทศไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังระบุว่า แม้สถานการณ์ในประเทศไทยจะคลี่คลายลงไป แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่ยุติ เพราะกุญแจที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา ไม่ใช่เพียงการมอบเงินให้กลุ่มคนเสี้อแดงกลับบ้าน หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่การมอบความยุติธรรมที่ตรวจสอบได้ โปร่งใส และน่าเชื่อถือมากพอ

ขณะที่นายโจชัว เคอร์แลนท์ซิกซ์ (Joshua Kurlantzick) นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สภาการวิเทศสัมพันธ์ สหรัฐฯ หน่วยงานภาคเอกชนที่ทำหน้าที่ด้านวิเคราะห์วิจัยนโยบาย บอกว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนในครั้งนี้ มีความแตกต่างในหลายๆด้านจากในอดีต ไม่ว่าจะในเหตุการณ์เดือนตุลาคม ในปี 2516 และ ปี 2519 หรือเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประท้วงจะเป็นชนชั้นกลาง แต่ในครั้งนี้ผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทจากต่างจังหวัดที่ไม่เชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจในรัฐบาล

ขณะเดียวกันการชุมนุมในครั้งนี้ ยังมีความแตกต่างในประเด็นการใช้กำลังเข้าปราบปรามที่ฝ่ายรัฐมักจะเป็นผู้ดำเนินการมาตลอด

นายโจชัว เคอร์แลนท์ซิกซ์ ย้ำว่า การใช้กำลังของฝ่ายรัฐในครั้งนี้เป็นไปด้วยความระมัดระวัง ทำให้ข้อกล่าวหาเรื่องการใช้กำลังปราบปรามประชาชน ของกลุ่มผู้ประท้วงขาดความน่าเชื่อถือไป

ด้านนายธีโมธี แฮมลิน (Themothy Hamlin) นักวิจัยด้านเอเชียศึกษา จากสถาบันสทิมมอน เซ็นเตอร์ ในกรุงวอชิงตัน ที่เข้าร่วมฟังการเสวนาในครั้งนี้ บอกว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐไทย

นายธีโมธี มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความท้าทายที่สำคัญทางสังคม และการเมือง ที่สังคมไทยต้องเผชิญ และจะก้าวผ่านไป เหมือนกับที่เคยผ่านอุปสรรคและวิกฤติการณ์ในอดีตมาได้

การเสวนาที่จัดโดยสำนักงานส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติ ของสหรัฐฯ หรือ NED ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักวิชาการ และสื่อมวลชนชาวต่างประเทศ ในกรุงวอชิงตัน ประมาณ 50 คนที่ร่วมแสดงความคิดเห็น และสอบถามแลกเปลี่ยนทรรศนะอย่างกว้างขวาง

XS
SM
MD
LG