ลิ้งค์เชื่อมต่อ

แว่นกันแดด อุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ในหน้าร้อน


ในหน้าร้อน อุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ แว่นกันแดด ซึ่งมีราคาหลากหลาย ตั้งแต่สองสามร้อยบาทไปจนกระทั่งมากกว่าหนึ่งหมื่นบาท

ราคาที่แตกต่างกันนี้ นอกจากจะสะท้อนถึงยี่ห้อของแว่นแล้ว ยังอาจส่อระดับของการป้องกันสายตาจากรังสีอัลตราไวโอเล็ตได้ด้วย

แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ วิธีเลือกแว่นนั้น มีเกณฑ์อะไรบ้างที่เป็นมาตรฐาน

รังสีอัลตราไวโอเล็ตสามารถทำร้ายตาของเราได้พอๆ กับที่ทำให้ผิวหนังไหม้เพราะตากแดดนานเกินไป ทำให้เป็นต้อ และแซลล์เยื่อชั้นในของลูกตาเสื่อมสภาพได้

คำถามก็คือ แว่นกันแดดอย่างไหนที่จะปกป้องตาของเราได้

รายงานของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย New South Wales ในออสเตรเลีย ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Ophthalmic and Physiological Optics ฉบับเดือนพฤษภาคม ระบุว่า มากกว่า 20% ของแว่นกันแดดที่ผลิตในยุโรป โฆษณาสรรพคุณไว้เกินกว่าสมรรถนะที่แท้จริง

สถาบันมาตรฐานของอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน กำหนดมาตรฐานแว่นกันแดดไว้ว่า ต้องสามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเล็ต (UV) ได้ระหว่าง 99 – 100 เปอร์เซ็นต์

แว่นกันแดดใดก็ตามที่ปิดป้ายบอกไว้ว่าป้องกันรังสี UV ได้ในระดับนี้ ตามความเป็นจริงแล้ว หมายความว่า ป้องกัน UV ได้ทั้งสองประเภท คือ UVB ที่มีคลื่นสั้นกว่าแต่ทำอันตรายได้มากกว่า ได้มากถึง 99 % และ UVA ซึ่งมีคลื่นยาวกว่า แต่ก็ยังเป็นอันตรายได้ถึง 95%

แว่นบางอันอาจจะโฆษณาว่าป้องกันรังสี UV ทั้งสองชนิดได้ โดยเฉพาะ UVA นั้น กรองแสงออกได้ถึงระดับคลื่นที่ 400 นาโนมีเตอร์ แต่ก็ต้องมองหาว่ามีป้ายที่ระบุตัวเลข 99 – 100% ไว้ด้วย

ส่วนที่บอกว่าซึมซับ หรือสะกัดกั้น UV นั้น เป็นภาษานักโฆษณาที่ลื่นไหล ไม่เป็นความจริงในทางปฏิบัติ

สถาบันมาตรฐานของอเมริกาแนะนำว่า ถ้าจะปกป้องตาให้ได้ผลเต็มที่แล้ว ต้องใช้แว่นชนิดที่ป้องกันแสงด้านข้าง หรือ Wrap-around อย่างที่แพทย์ให้คนที่ผ่าตัดต้อใช้หลังผ่าตัด

ส่วนเรื่องสีกระจกแว่นนั้น ไม่มีความหมาย กระจกสีเข้มไม่ได้ให้การป้องกันมากกว่ากระจกสีอ่อน

ยังมีแสงอีกชนิดหนึ่ง เป็นแสงสีน้ำเงินที่มองเห็นได้ อยู่ใต้แสงอัลตราไวโอเล็ตในแถบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า ยังไม่เป็นที่แน่ใจว่า แสงสีน้ำเงินนี้เป็นอันตรายหรือไม่ แต่ผู้ที่ต้องตากแดดเป็นประจำ รวมทั้งนักเล่นสกี เล่นเรือ และนักขับเครื่องบินที่ต้องมองแสงสะท้อนจากหิมะหรือน้ำเป็นปกติวิสัย อาจจะหาแว่นกันแดดที่สะกัดกั้นแสงสีน้ำเงิน หรือ Blue-blockers มาไว้ใช้เป็นการเพิ่มการป้องกันอีกชั้นหนึ่ง

รายงานเกี่ยวกับผลวิจัยนี้ระบุว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานแว่นกันแดด เพราะอันตรายจากแสงแดด เป็นเรื่องที่คนออสเตรเลียถือเป็นเรื่องสำคัญ

รังสี UV ในออสเตรเลียเข้มข้นกว่าในซีกโลกเหนืออย่างน้อย 15% ขึ้นไป เนื่องมาจากท้องฟ้าในออสเตรเลียสดใสกว่า และช่วงฤดูร้อนในออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคมนั้น โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์กว่าปกติ

ออสเตรเลียยังมีอัตราคนเป็นมะเร็งผิวหนังสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกด้วย

สำหรับผู้ที่อยากรู้ว่า แว่นกันแดดที่ซื้อมานั้น มีสมรรถนะตามที่โฆษณาไว้หรือไม่ ถ้าไม่มีเครื่องฉายแสงเลเซ่อร์ UV ฉายแว่นดูเอง ก็ต้องหอบเอาแว่นไปให้จักษุแพทย์ช่วยทดสอบให้

XS
SM
MD
LG