เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า การนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ช่วยส่งเสริมความทรงจำ มาตอนนี้ รายงานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ล่าสุด พบว่า การงีบหลับพักผ่อนชั่วครู่ตอนกลางวัน ที่เป็นการหลับสนิทและฝันด้วย ยิ่งช่วยส่งเสริมความสามารถในการเรียนรู้ และการทำงาน
รายงานฉบับใหม่ของคณะนักวิจัยที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด บ่งชี้ว่า การงีบหลับพักผ่อนตอนกลางวัน อาจเป็นวิธีการที่ดีในการศึกษาเล่าเรียนและการทำงาน ผลการศึกษากับอาสาสมัคร 99 คน พบว่า ในการทำงานยากๆ นั้น หากได้งีบหลับพักสักงีบใหญ่ เมื่อตื่นขึ้นมา จะทำให้ทำงานนั้นได้ง่ายขึ้น และระหว่างที่หลับนั้น หากฝันถึงงานที่ทำอยู่ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำงานนั้นได้ดียิ่งขึ้น
Robert Stickgold ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาการนอนหลับกับกระบวนการคิดและการจดจำ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด กล่าวว่า นักวิจัยสันนิษฐานว่า การฝันเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่า สมองกำลังทำงานกับปัญหาเดียวกันในหลายระดับ และการฝันอาจสะท้อนถึงการพยายามของสมอง ที่จะหาความเกี่ยวเนื่องสำหรับความทรงจำ ที่อาจทำให้ความทรงจำนั้น เป็นประโยชน์มากขึ้นในเวลาต่อไป
นักวิจัยอธิบายว่า จากการศึกษานี้แสดงว่า การฝันไม่ได้ทำให้ความทรงจำดีขึ้น แต่เป็นสัญญาณว่า สมองส่วนไร้สำนึกกำลังทำงานหนัก เพื่อจำข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการหรือช่องทาง ในการทำงานระหว่างที่อยู่ในภาวะฝัน
นักวิจัยสรุปว่า จุดสำคัญก็คือ การฝันระหว่างงีบพักนั้น เป็นผลข้างเคียงของกระบวนการของการจำ
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า อาจมีวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ ในการปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้และความทรงจำ และแนะว่า นักเรียนนักศึกษาน่าจะดูหนังสือหนักก่อนเข้านอน หรืองีบพักหลังการดูหนังสือหนักตอนบ่าย