ตามปรกติเวลาถกกันถึงเรื่องการลักลอบค้ามนุษย์นั้น ก็มักจะพูดกันถึงความเสี่ยง ที่กระทบถึงสตรีและเด็กๆ
แต่ในกัมพูชานั้น ชายหนุ่มชาวเขมร เสี่ยงต่อการถูกลักลอบนำไปขาย เป็นลูกเรือประมงไทยและมาเลเซีย บางคนลงเอยด้วยการต้องทำงานเยี่ยงทาส
ในกัมพูชานั้น ชายเขมรหลายสิบคนเล่าเรื่องราว ที่พวกเขาเคยต้องทำงานเยี่ยงทาส ตามเรือประมงไทยและมาเลเซีย คุณแมนเฟรด ฮอร์นุง ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของกลุ่มสิทธิมนุษยชน ลีคัดโฮของเขมรกล่าวว่า ถึงแม้ตัวเลขสถิติยังมีอยู่อย่างจำกัดมาก แต่มีวิสัยว่าชายเขมรนับพันๆ คนโดนลักลอบนำไปขายให้เป็นคนทำงานอยู่ตามเรือประมง ในภูมิภาคนั้นในระยะไม่กี่ปีมานี้
คุณแมนเฟรด ฮอร์นุงกล่าวว่า กลุ่มสิทธิมนุษยชนลีคัดโฮของเขมร สัมภาษณ์ชายเขมรหกสิบกว่าคน ที่โดนขายไปทำงานตามเรือประมงไทย นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2550 เป็นต้นมา และพบว่าชายเขมรเหล่านั้น เล่าประสพการณ์คล้ายๆ กันให้ฟังคือมีนายหน้าในท้องถิ่น ซึ่งทำงานผ่านทางคนรู้จักในชุมชนหรือ หมู่บ้าน และมาติดต่อทาบทามพวกชายหนุ่มชาวเขมร และทำให้พวกเขาอยากไปทำงานที่ประเทศไทย และในกรณีส่วนใหญ่นายหน้าหางาน จะไม่บอกพวกเขาว่าจะต้องไปทำงานตามเรือประมง แต่จะบอกว่าจะให้ไปทำงานด้านการก่อสร้าง หรือตามเรือกสวนไร่นา และก็ลักลอบพาพวกเขาเข้าไปในประเทศไทย
คุณแมนเฟรด ฮอร์นุงกล่าวด้วยว่าพอเข้าไปในประเทศไทย ชายหนุ่มเขมรบางส่วน จะโดนพาตัวไปที่ท่าเรือประมง แล้วโดนกักตัวไว้ที่บ้านพัก และโดนขายให้แก่พวกกัปตันเรือประมงในบั้นปลาย
คุณแมนเฟรด ฮอร์นุงกล่าวว่าสภาพการณ์เหล่านั้น ไม่ผิดแผกแตกต่างจากระบบทาสเลย แต่ชายหนุ่มชาวเขมรเหล่านั้น ไม่มีทางหลบหนีเพราะกัปตันและลูกเรือชาวไทย มีอาวุธเสมอ ชายหนุ่มเหล่านั้นเล่าว่าพวกตนได้นอนวันละสองสามชั่วโมง ถูกทุบตีและโดนมอมยาเพื่อให้อยู่ทำงานในเรือ ตามรายงานบางกระแสนั้นระบุว่า คนที่ป่วยเจ็บบางรายโดนโยนทิ้งทะเล การที่ปลาตามชายฝั่งมีให้จับน้อยลง ทำให้เรือประมงหลายลำต้องล่องทะเลเป็นเดือนๆ และจะไปจอดเทียบเรือใหญ่ เพื่อถ่ายปลาที่จับได้ให้เท่านั้น เรื่องนั้นทำให้หมดหนทางหลบหนี
คุณแมนเฟรด ฮอร์นุงกล่าวด้วยว่า ในหมู่ชายชาวเขมรหกสิบคนนั้น ไม่มีคนไหนบอกว่าได้รับค่าจ้างเลย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าภาวะยากจนในกัมพูชา คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการลักลอบค้ามนุษย์ส่วนใหญ่ในประเทศนั้น
ส่วนคุณหลุยส์ โร๊ส เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์ผู้เสียหายของมูลนิธิเอเชีย กล่าวว่าจากการสำรวจความเห็นในหมู่ชายเขมร 258 คน ซึ่งส่วนมากเคยทำงานตามเรือประมงของต่างชาติ พบว่าภาะหนี้สิน การขาดแคลนอาหาร และการไม่มีแหล่งรายได้คือสาเหตุใหญ่ๆ ที่ชาวเขมรเหล่านั้นบอกมูลนิธิเอเชียว่า ทำให้พวกเขาต้องไปทำงงานเยี่ยงทาส บนเรือประมงไทยและมาเลเซีย อุตสาหกรรมประมงของไทย มูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ต้องการแรงงานค่าแรงถูก
ตามคำบอกเล่าของชายเขมรบางส่วน นายหน้า และเจ้าของเรือที่ปราศจากความตะขิดตะขวงใจ พร้อมที่จะสนองตามความต้องการดังกล่าวทุวิถีทาง พวกต่อต้านการลักลอบค้ามนุษย์กลุ่มต่างๆ กล่าวว่าทางแก้ปัญหา ได้แก่การที่รัฐบาลของประเทศในภูมิภาค พยายามคุ้มครองคนงานย้ายถิ่นฐานให้มากขึ้น และดำเนินคดีต่อผู้ที่กระทำผิดในเรื่องที่ว่านี้ แต่นักกิจกรรมเหล่านั้นกล่าวว่า กฎหมายลงโทษการลักลอบค้ามนุษย์ในกัมพูชา อ่อนแอและตราบใดที่กฎหมายและการรักษา
กฎหมายไม่กระเตื้องดีขึ้น ชายหนุ่มในเขมรจำนวนมาก ยังคงเสี่ยงต่อการโดนบังคับใช้แรงงาน ในต่างประเทศต่อไป