ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘แอริโซนา’ ปักหมุดขุมกำลังด้านเซมิคอนดักเตอร์อเมริกัน


FILE - Technicians inspect a piece of equipment during a tour of the Micron Technology automotive chip manufacturing plant in Manassas, Virginia, Feb. 11, 2022.
FILE - Technicians inspect a piece of equipment during a tour of the Micron Technology automotive chip manufacturing plant in Manassas, Virginia, Feb. 11, 2022.

สหรัฐฯ หวังทวงบัลลังก์ศูนย์กลางด้านการวิจัยและการผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ในช่วงที่คณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ พยายามผลักดันให้อเมริกาลดการพึ่งพาสายการผลิตจากฝั่งเอเชีย ซึ่งรัฐแอริโซนาขานรับนโยบายดังกล่าวในการปักหมุดเป็นฐานการผลิตใหญ่ของอเมริกาแล้ว

บริษัทเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติไต้หวัน TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก ลงเสาเข็มที่โรงงานการผลิต ถัดไปทางเหนือของย่านใจกลางเมืองฟีนิกซ์ และลงหลักปักฐานอนาคตของแอริโซนา ในฐานะขุมกำลังด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ

การตัดสินใจของบริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของโลก TSMC มาในช่วงเวลาที่ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ กำลังเร่งเครื่องเต็มที่ในการกระตุ้นอุตสากรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ด้วยงบประมาณ 54,000 ล้านดอลลาร์ผ่านกฎหมาย CHIPS and Science Act

ในระดับรัฐบาลท้องถิ่นต้องการสร้างงานและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับรัฐและมลรัฐ ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ ต้องการย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มายังสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

มหาวิทยาลัย Arizona State University เป็นหนึ่งในสถาบันที่ยื่นของบประมาณเพิ่มเติม 2,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นโครงการเพิ่มศักยภาพด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

ไมเคิล โครว์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย Arizona State University กล่าวกับวีโอเอว่า “เราไม่สามารถพึ่งพาประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่กำลังขับเคี่ยวกันทั้งในเรื่ององค์ประกอบสำคัญและอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศได้”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ พึ่งพาประเทศในเอเชียตะวันออก ในฐานะศูนย์กลางการผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีหลากหลายเหตุผลในการปักหลักการผลิตในฝั่งเอเชีย รวมถึงเรื่องต้นทุนด้วย

นักการเมืองในแอริโซนา ระบุว่า ภายใต้กฎหมาย CHIPS and Science Act อาจช่วยชดเชยต้นทุนเพิ่มเติมราว 30% ในการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับการตั้งฐานการผลิตในเอเชีย

หน่วยงานส่งเสริมธุรกิจในแอริโซนา นำโดยแซนดรา วัตสัน ผู้บริหารสำนักงานการพาณิชย์รัฐแอริโซนา เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อต้นปีนี้ เพื่อเสนอโครงการต่าง ๆ ให้กับบริษัทผู้ขายส่วนประกอบให้กับบริษัท TSMC ซึ่งมีอย่างน้อย 6 บริษัทที่ย้ายฐานเข้ามาผลิตในแอริโซนาแล้ว

วัตสัน กล่าวว่า “เรากำลังทำงานร่วมกับบริษัทผู้ขายส่วนประกอบหลายสิบรายจากไต้หวัน และมองหาบริษัทจากทั่วทุกมุมโลก ให้เข้ามาตั้งฐานและดำเนินการผลิตที่แอริโซนา”

แม้ว่าบริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายส่วนประกอบจะเข้ามาจัดตั้งโรงงานในสหรัฐฯ แต่การสร้างระบบนิเวศด้านชิปประมวลผลแบบครบวงจรในสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากองค์ประกอบสำคัญในสายการผลิตชิปยังคงอยู่นอกประเทศ

คริส คามาโช จากหน่วยงาน Greater Phoenix Economic Council ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “วันนี้ การผลิตส่วนประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ ฐานรองวงจร หรือองค์ประกอบสำคัญอื่น ๆ ในระบบนิเวศด้านชิปประมวลผล ยังดำเนินการอยู่ในต่างประเทศทั้งสิ้น เป้าหมายของเราคือการสร้างกระบวนการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่การขั้นโรงหล่อไปจนถึงผลิตและบรรจุชิปขั้นสูงในสหรัฐฯ ทั้งหมดที่เดียว”

แอริโซนา ขึ้นแท่นรัฐที่มีการจ้างงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ตามหลังแคลิฟอร์เนีย โอเรกอน และเท็กซัส และการตัดสินใจของบริษัท TSMC ของไต้หวัน ในการมาตั้งฐานการผลิตในแอริโซนา รวมกับการขยายฐานการผลิตของบริษัทอินเทล ห่างไปราว 30 ไมล์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองฟีนิกซ์ ได้สร้างแรงดึงดูดใหม่ให้เข้ามาตั้งฐานและลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในแอริโซนามากขึ้นตามไปด้วย อย่างล่าสุดบริษัท Edwards Vacuum ผู้ผลิตปั๊มสุญญากาศในโรงงานอุตสาหกรรมได้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานบนพื้นที่เกือบ 12 ไร่ในแอริโซนาแล้ว

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG