ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การเพาะเลี้ยงปลากำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นส่วนสำคัญของภาคการผลิตอาหารโลก


การเพาะเลี้ยงปลากำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นส่วนสำคัญของภาคการผลิตอาหารโลก
การเพาะเลี้ยงปลากำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นส่วนสำคัญของภาคการผลิตอาหารโลก

การเพาะเลี้ยงปลาในหลายประเทศในเอเชียกำลังเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในภาคการผลิตอาหารโลก ซึ่งถือเป็นการชดเชยพันธุ์ปลาในมหาสมุทรที่มีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหายเนื่องจากการจับปลามากเกินไปเพื่อนำมาเป็นอาหารของมนุษย์

รายงานขององค์กรเอกชนผู้สนับสนุนการเลี้ยงปลาอย่างยั่งยืน World Fish Center ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมของการเพาะเลี้ยงปลาตามแหล่งน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสระน้ำ บ่อ บึง ทะเลสาบหรือตามแนวชายฝั่งทั่วโลก พร้อมทั้งเปรียบเทียบแนวทางการเพาะเลี้ยงตลอดจนพันธุ์ปลาต่างๆว่าแบบไหนดีที่สุด ให้ประโยชน์สูงสุดและไม่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันปลาที่ผู้คนทั่วโลกรับประทานกันทุกวันเกือบครึ่งหนึ่งเป็นปลาเลี้ยง โดย 91% ของปลาเลี้ยงทั่วโลกมาจากประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะจีนซึ่งผลิตปลาเลี้ยงได้ราว 61% ของจำนวนปลาเลี้ยงทั้งหมดในเอเชีย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการเพาะเลี้ยงปลาที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ยังไม่มีการพูดถึงกันมากนัก

คุณ Stephen Hall ผอ.World Fish Center และผู้เขียนรายงานฉบับนี้ระบุว่า ของเสียที่เกิดจากการจัดการแหล่งน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจทำให้เกิดมลพิษต่อดินและน้ำตามแนวชายฝั่ง และการเลี้ยงปลาพันธุ์กินเนื้อเช่นปลาแซลม่อน ต้องให้อาหารและน้ำมันที่ผลิตจากเนื้อปลาอื่นๆ ซึ่งเป็นคุกคามพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ ในทางกลับกันการเลี้ยงสัตว์น้ำจำพวกหอย เช่นหอยนางรมและหอยแมลงภู่ดูจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า นอกจากนี้รายงานของ World Fish Center ยังระบุด้วยว่าวิธีที่ชาวจีนใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำพวกกุ้งนั้น ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าวิธีที่ใช้อยู่ในประเทศไทยหรือเวียดนาม

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงปลาคาดการณ์ว่าปริมาณปลาเลี้ยงทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 50% จากระดับปัจจุบันภายในช่วง 20 ปีข้างหน้า ซึ่งนั่นสร้างความกังวลให้กับนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมบางกลุ่ม แต่ในขณะเดียวกันรายงานการประเมินที่เผยแพร่ในเมื่อเร็วๆนี้ชี้ว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้นมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลเสีย อีกทั้งยังใช้ที่ดินและพลังงานในการเลี้ยงสัตว์น้ำน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์อื่นๆ

คุณ Sebastian Troeng รองประธานกลุ่ม Conservation International ผู้สนับสนุนรายงานชิ้นนี้ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบจากการเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีต่อสิ่งแวดล้อมคือการปรับปรุงเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ เพื่อลดการใช้อาหารปลาและน้ำมันปลาที่ผลิตจากปลาตามธรรมชาติ นอกจากนี้คุณ Troeng แนะนำให้มีกฎเกณฑ์ที่ดีกว่าเดิมเพื่อควบคุมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะในประเทศที่อุตสาหกรรมด้านนี้กำลังเติบโต

รองประธานกลุ่ม Conservation International ผู้นี้ยังเสริมด้วยว่าประเด็นสำคัญที่สุดคือความพยายามผลักดันให้รัฐบาล องค์กรภาคธุรกิจและเอกชน ตลอดจนชุมชนต่างๆ ร่วมมือกันกำหนดเป้าหมายสำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านอาหารโลกไปพร้อมๆกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม

XS
SM
MD
LG