ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เจรจาการค้าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกไม่ค่อยคืบหน้า แม้ใกล้เริ่มประชุมผู้นำ APEC


ภาพจากงานเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2022 (REUTERS/Jonathan Ernst/File Photo)
ภาพจากงานเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2022 (REUTERS/Jonathan Ernst/File Photo)

การประชุมสุดยอดของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอเปค (APEC: Asia-Pacific Economic Cooperation) ที่นครซานฟรานซิสโกกำลังจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า และสหรัฐฯต้องการแสดงให้เห็นว่าเกิดความคืบหน้าในการเจรจากรอบการค้าที่สหรัฐฯ ริเริ่ม ที่เรียกว่า IPEF (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความตั้งใจดังกล่าวของสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดผลได้ไม่มากนัก เพราะบางประเทศขอสงวนความตกลงกับสหรัฐฯ ในประเด็นสิ่งเเวดล้อมและแรงงาน ณ เวลานี้ ตามรายงานของรอยเตอร์

เวนดี คัตเลอร์ หัวหน้าศูนย์ Asia Society Policy Center ที่กรุงวอชิงตันและอดีตเจ้าหน้าที่เจรจาการค้าสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ มีโอกาสที่สำคัญในการ "แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ กำลังดำเนินการอย่างเเข็งขันมากขึ้น ผ่าน APEC และ IPEF และประกาศว่า เรากลับมา (มีบทบาท) ในเอเชียอีกครั้งหนึ่ง และจะยังคงเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดทางเศรษฐกิจ" กับภูมิภาคนี้

ภายใต้รัฐบาลชุดก่อนของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ รัฐบาลอเมริกันถอนตัวออกจากกรอบการค้าเสรี TPP (Trans-Pacific Partnership) ต่อมารัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนี้ ได้ริเริ่ม IPEF ขึ้น

หากเทียบกับ TPP ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การลดสิ่งกีดขวางทางการค้า IPEF เป็นกรอบการเจรจาที่มีความจำเพาะเจาะจงมากกว่า โดยมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือ 4 ด้าน อันประกอบด้วยการค้า สายการผลิตและขนส่งสินค้าโลก หรือ supply chains การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การต่อสู้กับคอร์รัปชันและการเลี่ยงภาษี

ประเทศที่ร่วมเจรจากรอบการค้า IPEF มี 14 ประเทศ ได้เเก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บรูไน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม และไทย โดยอินเดียและฟิจิไม่ได้อยู่ในกลุ่ม APEC แต่ร่วมหารือกรอบ IPEF

ขณะนี้ประเทศคู่เจรจาเห็นพ้องต้องกันในเนื้อหาฉบับสมบูรณ์ของการตกลงที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ในเรื่องการสร้างความเเข็งแกร่งให้กับ supply chains เท่านั้น

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รับบทนำในการเจรจาเรื่อง การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการต่อสู้กับคอร์รัปชันและการเลี่ยงภาษี ซึ่งคาดว่าน่าจะมีบทสรุปที่ชัดเจน และรอยเตอร์ระบุว่าน่าจะมีแถลงการณ์เกี่ยวกับ 2 หัวข้อนี้ในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าว 3 รายบอกกับรอยเตอร์ว่าเสาหลัก IPEF เรื่องการค้าเป็นหัวข้อที่ยากที่จะให้เกิดความเห็นพ้องต้องกัน โดยหลายประเทศยังไม่เต็มใจตอบรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ หรือขอเวลาพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องมาตรฐานแรงงานและสิ่งเเวดล้อม

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และผู้เเทนการค้าสหรัฐฯเเคเธอรีน ไท เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2023 (AP Photo/Susan Walsh)
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และผู้เเทนการค้าสหรัฐฯเเคเธอรีน ไท เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2023 (AP Photo/Susan Walsh)

นอกจากนั้น การเจรจาเรื่องมาตรฐานการค้าในรูปแบบดิจิทัลแทบจะหยุดชะงักลงเมื่อสหรัฐฯ เปลี่ยนท่าทีในประเด็นอีคอมเมิร์ซ

เดิมที สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ USTR ต้องการปกป้องความเป็นเสรีในข้อมูลข้ามประเทศ รวมทั้งต้องการห้ามการตั้งกฎเกณฑ์แห่งชาติเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลเฉพาะพื้นที่ และการตรวจสอบโค้ดของซอฟต์แวร์

แต่ล่าสุด USTR ไม่ได้ต้องการผลักดันเรื่องที่กล่าวไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่ารัฐสภาสหรัฐฯ ควรมีบทบาทในการออกกฎหมายที่แข็งขันมากขึ้นต่อบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่

เวนดี คัตเลอร์ กล่าวว่าการเจรจาด้านการค้ามักใช้เวลา แม้ว่าจะมีการเสนอเปิดตลาดให้ประเทศอื่น ๆ เธอกล่าวว่าเป็นงานหนักในกรณีของสหรัฐ ฯ ที่เป็นฝ่ายต้องการให้ประเทศอื่นเปิดตลาดสำหรับสินค้าของตน เพราะต้องแสดงให้ประเทศเหล่านั้นเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น

รอยเตอร์รายงานว่า ในวันพฤหัสบดี กลุ่มนักการเมืองเดโมแครตสายกลางเรียกร้องในจดหมายให้ประธานาธิบดีไบเดนยกระดับให้ IPEF เป็นการเจรจาเพื่อนำไปสู่การเปิดตลาด

กลุ่ม New Democrat Coalition ระบุในจดหมายว่า "เราต้องแสวงหาวาระทางการค้าที่มีพลังมากขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกซึ่งเป็นภูมิภาคที่สำคัญยิ่ง และขอเรียกร้องให้รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนบรรลุความตกลงที่จะส่งเสริมความเป็นผู้นำระดับโลกของสหรัฐฯ และทำให้เกิดการจ้างงานชาวอเมริกันและธุรกิจใหม่ ๆ อย่างมีนัยสำคัญ"

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG