ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์พบซากสเปิร์มเก่าแก่ในก้อนอำพันอายุ 100 ล้านปี


Sperm Illustration
Sperm Illustration

นักวิทยาศาสตร์พบสิ่งที่อาจเป็นตัวอย่างสเปิร์มที่กลายเป็นซากฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบมาภายในสัตว์ที่มีเปลือกแข็งคล้ายกุ้งตัวเล็กจิ๋วที่ติดอยู่ในก้อนอำพันเมื่อ 100 ล้านปีก่อน

นักวิจัยกล่าวว่าการค้นพบก้อนอำพันที่จังหวัดคะฉิ่น ของประเทศเมียนมา ซึ่งได้อธิบายไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Proceedings of the Royal Society of Biological Sciences เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน ช่วยให้มีโอกาสได้ศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของกระบวนการสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆ

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าสัตว์ตระกูลครัสเตเชียนหรือสัตว์ที่มีเปลือกแข็งที่พบสเปิร์มอยู่นั้น เป็นสัตว์ที่เรียกว่าออสทราคอดซึ่งมีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรซึ่งอาจถูกห่อหุ้มด้วยอำพันหลังจากที่ผสมพันธุ์ได้ไม่นาน พวกเขากล่าวว่าเซลล์สเปิร์มที่พบในสัตว์ที่ว่านี้มีความสำคัญไม่ใช่เพียงเพราะอายุ แต่ยังเป็นเพราะขนาดของมันอีกด้วย คือสเปิร์มดังกล่าวมีขนาดใหญ่ประมาณ 1 ใน 5 ของสัตว์ชนิดนี้เลยทีเดียว

นักวิจัยกล่าวว่าในขณะที่สัตว์ส่วนใหญ่สร้างสเปิร์มขนาดเล็กๆ จำนวนมหาศาล แต่ก็ยังมีสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันผลิตสเปิร์มขนาดยักษ์ เช่นสัตว์จำพวกออสทราคอดและแมลงหวี่บางชนิดก็ผลิตสเปิร์มที่มีขนาดยาวกว่าร่างกายตัวเองหลายเท่าตัว

Renate Matzke-Karasz แห่งมหาวิทยาลัย University of Munich หนึ่งในผู้เขียนการรายงานการศึกษานี้กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการค้นพบนี้คือการที่ทำให้ทราบว่าวิธีการขยายพันธุ์แบบนี้มีมาช้านานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าอะไรเป็นข้อได้เปรียบทางวิวัฒนาการระหว่างสัตว์ที่ผลิตสเปิร์มขนาดยักษ์ในจำนวนน้อยกับสัตว์ที่ผลิตสเปิร์มขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก

Matzke-Karasz กล่าวต่อไปอีกว่าแม้ว่าสเปิร์มขนาดใหญ่อาจมีโอกาสเข้าไปถึงไข่ได้ดีกว่าแต่อวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์ที่ผลิตสเปิร์มนั้นออกมาก็ต้องมีขนาดใหญ่ซึ่งจะต้องใช้ "พลังงานทางชีวภาพ" อย่างมากด้วย และว่าก่อนการค้นพบในครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ด้านวิวัฒนาการได้ตั้งคำถามว่าสัตว์ที่พัฒนาระบบสืบพันธุ์ประเภทนี้ถึงวาระที่จะสูญพันธุ์แล้วหรือไม่

ซึ่งตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ได้คำตอบแล้วว่าสัตว์ดังกล่าวก็สามารถดำรงชีวิตมาได้หลายล้านปี

XS
SM
MD
LG