ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การออกเสียงพยัญชนะแบบกักลมในลำคออาจเกี่ยวข้องกับระดับความสูงเหนือน้ำทะเลของชุมชนที่ใช้ภาษานั้น


ภาษาพูดของชุมชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง มักจะมีการใช้พยัญชนะที่ต้องกักเสียงลมซึ่งออกมาจากท้อง ทำให้มีเสียง ‘เคอะ’ จากด้านในของลำคอออกมากับพยัญชนะนั้นด้วย ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมบนที่สูง

ปัจจุบัน ภาษาพูดที่ใช้กันบนโลกมีอยู่ประมาณ 7,000 ภาษา ซึ่งแต่ละภาษามีวิวัฒนาการตลอดเวลา ล่าสุดคุณ Caleb Everett นักมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยไมอามี่ในรัฐฟลอริดา ค้นพบว่าสภาพแวดล้อมอาจมีอิทธิพลต่อภาษาพูดของคนในแต่ละพื้นที่

คุณ Caleb Everett ยกตัวอย่างภาษาที่ใช้กันในพื้นที่สูงทั่วโลก ซึ่งมักมีเสียงพยัญชนะแบบกักเสียงลมออกมาจากด้านในลำคอด้วย เรียกว่า Ejective Consonant ภาษที่ใช้พยัญชนะลักษณะนี้ก็เช่น ภาษามายา จอร์เจี้ยน อาร์เมเนี่ยน ไนจีเรี่ยน-เฮาซ่า เอธิโอเปียน-โอโรโม่ ภาษาเกาหลี และภาษาแอมเฮริคซึ่งใช้กันในบางส่วนของอาฟริกา

นักวิจัยผู้นี้ศึกษาโดยรวบรวมภาษาต่างๆราว 600 ภาษา รวมทั้งภาษาที่ออกเสียงพยัญชนะแบบกักเสียงลม 92 ภาษา ในจำนวนนี้พบว่ามีภาษาที่ออกเสียงพยัญชนะแบบกักเสียงลมถึง 87 ภาษา ที่ใช้กันอยู่บนพื้นที่สูงกว่า 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล นักวิจัยเชื่อว่าบนพื้นที่ที่มีความสูงมากๆซึ่งมีอากาศน้อย การออกเสียงแบบกักลมเอาไว้นี้จะทำได้ง่ายกว่าการออกเสียงปกติ

คุณ Caleb Everett ชี้ว่าสิ่งที่พบนี้อาจช่วยอธิบายถึงวิวัฒนาการของภาษาบนโลก ซึ่งบางภาษาอาขเกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ใช้ เช่น การออกเสียงพยัญชนะแบบกักลมไว้ที่ลำคอนั้นอาจช่วยป้องกันไม่ให้ความชื้นในลำคอกระจายออกนอกร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงของการขาดน้ำหรือคอแห้ง ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยบนพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมากๆ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังเป็นเพียงข้อสังเกตและสมมติฐานที่ยังต้องมีการศึกษาแบบเจาะลึกถึงในลำคอต่อไป

รายงานจาก Megan MeGrath / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล




XS
SM
MD
LG