ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: ผู้ประท้วงพลิกประวัติศาสตร์การใช้สื่อออนไลน์เป็นพื้นที่แสดงจุดยืนการเมือง


screenshot of Twitter search result of hashtag #freeyouthmovement, widely used among pro-democracy protesters in Thailand
screenshot of Twitter search result of hashtag #freeyouthmovement, widely used among pro-democracy protesters in Thailand
Thai Politics Seminar
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:51 0:00


การประท้วงต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องการปฏิรูปในไทย ได้เห็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่เรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของมวลชน โดยเฉพาะทางทวิตเตอร์ และคลับเฮาส์ ที่มีเป้าหมายสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศ

อาจารย์เอม สินเพ็ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ทำการศึกษาเกี่ยวกับความนิยมการใช้ทวิตเตอร์ในการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเธอระบุว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือทางการเมืองหลัก

เธอเสนอผลการศึกษาระหว่างการเสวนาทางวิชาการออนไลน์ “Thailand Update: Protests Revisited” จัดโดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่นครนิวยอร์ก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

งานวิจัยของนักวิชาการผู้นี้ให้ความสำคัญกับแฮชแท็ก #เยาวชนปลดแอก ซึ่งเป็นแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากข้อมูลที่รวบรวมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 31 สิงหาคมของปีที่แล้ว

Pro-democracy activists show the three-finger salute as they protest after the constitutional court's ruling on Prime Minister Prayuth Chan-Ocha's conflict of interest case, in Bangkok, Thailand, Dec. 2, 2020.
Pro-democracy activists show the three-finger salute as they protest after the constitutional court's ruling on Prime Minister Prayuth Chan-Ocha's conflict of interest case, in Bangkok, Thailand, Dec. 2, 2020.

อาจารย์เอมระบุว่า ความน่าสนใจของการใช้แฮชแท็กดังกล่าวคือ จุดประสงค์หลักมีเพื่อวิจารณ์เหตุการณ์การเมือง แสดงความเสียใจผิดหวัง มากกว่าเพื่อใช้ส่งต่อข้อมูลหรือเพื่อระดมพลประท้วง “การใช้แฮชแท็กในลักษณะนี้ ชี้ให้เห็นว่าเป็นการใช้เพื่อแสดงเอกภาพหรืออัตลักษณ์ของการเป็น #เยาวชนปลดแอก มากกว่าเพื่อประโยชน์ในการประท้วง”

เธอยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้ใช้แฮชแท็ก #เยาวชนปลดแอก มักอภิปรายถึงประเด็นประชาธิปไตย ฝ่ายค้าน สิทธิเยาวชน การศึกษา เศรษฐกิจ และสถาบันกษัตริย์ และอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ใช้แฮชแท็กนี้ที่ได้รับการ “รีทวีต” เป็นจำนวนมาก เป็นผู้ใช้งานทวิตเตอร์ทั่วไป ไม่ใช่ผู้มีชื่อเสียงหรือแกนนำประท้วง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการ “กระจายอำนาจ” ในการชุมนุม ทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปในวงกว้างมากขึ้น


สำหรับแอปพลิเคชั่นเสวนาทางเสียงที่กำลังมาแรงอย่าง “คลับเฮาส์” นั้น อาจารย์เอมมองว่า “คลับเฮาส์” เป็น แอปพลิเคชั่นที่เกิดใหม่ มีขนาดเล็กกว่าเเพลตฟอร์มหลักๆ และอาจไม่ได้มีความปลอดภัยมากกว่าสื่อสังคมออนไลน์หลักด้วย “เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อสังคมขาดเสรีภาพของข้อมูล ทำให้ผู้คนค้นหาช่องทางต่างๆ รวมถึงช่องทางดิจิตัลเพื่อเสวนาถึงประเด็นที่พวกเขาต้องการ” เธอตั้งข้อสังเกต

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นประเด็นน่าสนใจของการเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปีที่ผ่านมา คือการที่นักเรียนนักศึกษาเป็นขบวนการหลักในการประท้วง โดยในเรื่องนี้ อาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาวิจัยโดยการสัมภาษณ์นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 150 คน และนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 150 คน จากทั่วประเทศ ถึงการตัดสินใจมีส่วนร่วมทางการเมืองของพวกเขา


อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ผู้นี้ตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาในช่วงปีที่ผ่านมา มีจุดเด่นที่น่าสนใจ ที่แตกต่างจากการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาครั้งก่อนๆ เนื่องจากข้อเรียกร้องของพวกเขามีลักษณะ “ถึงรากถึงโคน” มาก โดยนอกจากพวกเขาจะเรียกร้องถึงความเท่าเทียมทางการศึกษาของโรงเรียนทั้งในตัวเมืองและในชนบทแล้ว พวกเขายังเรียกร้องเสรีภาพ ความเท่าเทียมทางสังคม และพวกเขาเป็นกำลังเคลื่อนไหวหลักเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ

Thailand Student Protests
Thailand Student Protests

อาจารย์กนกรัตน์ ซึ่งให้ความเห็นในเวทีเสวนาเดียวกับอาจารย์เอม ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อเรียกร้องของพวกเขาดุดันมากกว่าข้อเสนอของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ โดยนักศึกษาที่เธอสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ ออกมาเคลื่อนไหวเพราะคดียุบพรรคอนาคตใหม่และรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2560 ที่พวกเขามองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

เหตุใดนักเรียนเหล่านี้ถึงกล้า “แหกขนบ” และเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบเพื่อเสนอข้อเรียกร้องแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเช่นนี้? อาจารย์กนกรัตน์อธิบายว่า ประการแรก พวกเขาคาดหวังว่าโรงเรียนจะเป็นสถานที่ปูพื้นฐานให้พวกเขาพร้อมรับกับความท้าทายต่างๆ อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาไทยกลับไม่มีประสิทธิภาพในสายตาของพวกเขา


นอกจากนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยนักเรียนที่เธอสัมภาษณ์หลายคนระบุว่า ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน “ผลิตหุ่นยนต์” จากการศึกษา และไม่สอนให้นักเรียนมีทักษะการปรับตัว การคิดวิเคราะห์ และความสามารถที่พวกเขาต้องการในโลกยุคปัจจุบัน

เหตุผลอีกประการคือ นักเรียนเหล่านี้รู้สึกถึงการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมและการทุจริตในโรงเรียน “การเผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรมในรั้วโรงเรียน ทำให้พวกเขาประท้วงต่อต้านตั้งแต่ในระดับโรงเรียน เช่น การประท้วงการทุจริตค่าอาหารกลางวัน การทุจริตการก่อสร้างในโรงเรียน การคุกคามทางเพศของครูเพศชาย”

“การเคลื่อนไหวเหล่านี้ผลักดันให้พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับประเทศซึ่งเป็นเหมือน ‘ก้าวต่อไป’ ในการเคลื่อนไหวของพวกเขา” ท้ายสุดเธอกล่าวว่านักเรียนมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นการศึกษา กับประเด็นระดับประเทศอย่างสถาบันฯ และการใช้อำนาจของรัฐ

XS
SM
MD
LG