ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปีแห่งการเลือกตั้งโลก สะท้อนความขุ่นเคืองของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่หยั่งลึก


ผู้ประท้วงหนุนปาเลสไตน์ประท้วงนโยบายอิสราเอลของเยอรมนี ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งของพรรค German Social Democrats (SPD) ในเยอรมนี เมื่อ 8 มิ.ย. 2024 (AP Photo/Martin Meissner)
ผู้ประท้วงหนุนปาเลสไตน์ประท้วงนโยบายอิสราเอลของเยอรมนี ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งของพรรค German Social Democrats (SPD) ในเยอรมนี เมื่อ 8 มิ.ย. 2024 (AP Photo/Martin Meissner)

ปี 2024 นี้ถือเป็นปีที่มีการจัดการเลือกตั้งใหญ่ในหลายสิบประเทศทั่วทุกมุมโลก ซึ่งสิ่งที่หลายฝ่ายมองเห็นในการเลือกตั้งใหญ่ในหลายพิกัดที่ผ่าน ๆ มาในช่วงเกือบครึ่งปีแรกนี้ ล้วนเป็นการสะท้อนภาพที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ การแสดงออกถึงความไม่พึงพอใจของบรรดาผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในการเลือกตั้งที่หยั่งรากลึกขึ้นเรื่อย ๆ

ศูนย์ชุมชนทางตะวันออกของกรุงลอนดอน ชาย 20 ชีวิตรวมตัวกันเพื่อพบปะหารือช่วงมื้อเที่ยง ตั้งสภาชากาแฟ ถกเถียงและวิจารณ์รัฐบาลของตน ที่พวกเขารู้สึกว่านายกรัฐมนตรีและบรรดาสมาชิกสภาผู้มีอันจะกินนั้นช่างดูห่างไกลจากชีวิตที่พวกเขาเป็นอยู่เสียเหลือเกิน

แบร์รี สแตรดลิง วัย 65 ปี ที่เข้าร่วมสภากาแฟในกรุงลอนดอน บอกกับเอพีว่า “มันรู้สึกเหมือเราเป็นชนชั้น 2 สส.ไม่ได้เป็นตัวแทนของเรา ผู้นำไม่เข้าใจสิ่งที่เราต้องเผชิญ ... พวกเขาฟังเสียงประชาชนบ้างหรือเปล่านั้น? ผมคิดว่าไม่เลย”

เสียงสะท้อนที่คล้ายกันดังไกลถึงกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย นิ วายัน ซูร์ยาทินี วัย 46 ปี คร่ำครวญถึงผลการเลือกตั้งอินโดนีเซียที่พึ่งผ่านพ้นไป ซึ่งบุตรชายของอดีตประธานาธิบดีก้าวขึ้นมารับตำแหน่งรองประธานาธิบดี และพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามดูเหมือนจะทำอะไรไม่ได้มากที่จะหยุดยั้งเขาได้ โดยได้กล่าวกับเอพีเกี่ยวกับนักการเมืองอินโดนีเซียว่า “มันยากที่จะเชื่อถือพวกเขา[นักการเมือง]เพราะพวกเขาแค่ต้องการบรรลุเป้าหมาย พอไปถึงจุดหมายก็จะลืมทุกอย่างไปเลย”

ในฝั่งสหรัฐฯ แซลลี ออตโต วัย 58 ปี เจ้าของร้านอุปกรณ์งานฝีมือ จากกรีลีย์ โคโลราโด รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมาถึง ซึ่งเป็นการขับเคี่ยวระหว่างมวยคู่เดิมเมื่อปี 2020 คือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เธอกล่าวกับเอพีว่า “ฉันรู้สึกเหมือนเรากลับไปจุดที่เคยเป็น กับ 2 ตัวเลือกที่แย่ ๆ ที่เคยมี”

ในระหว่างที่ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ตั้งแต่เกาหลีใต้ไปจนถึงอาร์เจนตินา ต่างออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในปีนี้ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหลายต่างอยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความขุ่นเคือง อ้างอิงจากการสำรวจของสตีเวน เววิตสกี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

พลวัตนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นซ้ำรอยในการเลือกตั้งสหภาพยุโรปที่ปิดฉากลงในวันอาทิตย์เช่นกัน ที่พรรคการเมืองพรรคประชานิยมเอียงขวาต่างคว้าชัยในการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป โดยการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองไปทางขวาของสภายุโรป อาจเป็นอุปสรรคต่อการผ่านกฎหมายด้านความมั่นคง การค้า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผิดธรรมชาติในยุโรป

แมตเทียส แมตทิจส์ นักวิชาการอาวุโสจาก Council on Foreign Relations ในกรุงวอชิงตัน ให้ทัศนะกับเอพีว่า “ไม่เคยมีผู้คนที่ออกมาแสดงความไม่พึงพอใจมากมากเช่นนี้มาก่อน”

ส่วนเหตุผลของความไม่พอใจในการเมืองที่เป็นอยู่นั้นมีความหลากหลาย เช่น ความสามารถในการแก้ปัญหาประเทศ การฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตโควิด-19 ประเด็นเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมที่มีต้นตอมาจากโลกาภิวัฒน์

แม้ว่าในประเทศต่าง ๆ อย่างในยุโรป พรรคประชานิยมเอียงขวาได้รับความนิยมชมชอบมากขึ้น แต่กลับพบว่ามีความสอดคล้องด้านอุดมการณ์เพียงเล็กน้อยต่อระดับความทุกข์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยในการสำรวจของพิวใน 24 ประเทศประชาธิปไตย พบว่า 74% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขาไม่คิดว่านักการเมืองสนใจสิ่งที่ประชาชนอย่างพวกเขาคิด และ 42% บอกว่าไม่มีพรรคการเมืองใดที่สะท้อนมุมมองของประชาชนเลย

ริชาร์ด ไวค์ จาก Global Attitudes Research ของศูนย์วิจัยพิว บอกกับเอพีว่า “มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และยังเกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการเมืองด้วย .. สิ่งนี้จะนำไปสู่สถานการณ์ที่การเมืองถูกมองว่าเป็นเกมที่ผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียว (zero-sum game) ผู้คนมองเห็นว่าเป็นภัยคุกคามที่มากขึ้นจากอีกฝั่ง และทำให้รู้สึกไม่พอใจความเป็นประชาธิปไตย”

ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามีข้อยกเว้นอย่างหนึ่งเกี่ยวกับกระแสความขุ่นเคืองตัวผู้นำที่ได้รับเลือกตั้งมา คือ ในกลุ่มประเทศที่ผู้นำมาจากระบบต่อต้านการเมืองแบบเดิม ๆ และผู้นำฝ่ายประชานิยม “นักการเมืองนอกสายตาที่ต่อต้านระบบเดิม ๆ ได้รับชัยชนะมากกว่าในอดีต” ในทัศนะของเลวิตสกี

อย่างกรณีของผู้นำฝ่ายซ้ายเม็กซิโก ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ที่เพิ่งหมดวาระ สามารถยุติความพ่ายแพ้ของพรรคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอดีตมาได้ หลังคลาวเดีย เชนบอม ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเขาชนะเลือกตั้งเป็นผู้นำเม็กซิโกเมื่อสัปดาห์ก่อน

ส่วนที่อาร์เจนตินา ฆาบิเอร์ เฆราร์โด มิเลย์ ผู้ที่เรียกตนเองว่า “อนาธิปไตย-ทุนนิยม” และถูกขนานนามว่า “คนเสียสติ” ในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบเขา ยังคงได้รับความนิยมชมชอบในประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงภายใต้มาตรการรัดเข็มขัดและการปฏิรูปที่เข้มงวดของเขา

ขยับไปที่อินเดีย ที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้ที่เผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังทำลายประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ในการสำรวจของศูนย์วิจัยพิวล่าสุด พบว่า อินเดียสนับสนุนรูปแบบรัฐบาลแบบเผด็จการมากที่สุดในหมู่ประเทศที่อยู่ในการสำรวจ โดย 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามของอินเดียสนับนุนระบอบผู้นำที่แข็งแกร่ง

แต่ถึงกระนั้น ผู้นำอย่างโมดียังเผชิญกับความขุ่นข้องหมองใจในหมู่ประชาชน แม้จะชนะเลือกตั้งสมัยสามก็ตามที แต่พรรคภารตียา ชนตา หรือ BJP ของโมดีกลับได้ที่นั่งในสภาไม่ถึงเป้าหมาย จนต้องดึงพรรคพันธมิตรมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

ความรู้สึกต่อต้านผู้นำทั่วโลก ประกอบกับความสำเร็จของแนวคิดต่อต้านระบบการเมืองแบบเก่า ได้ส่งสัญญาณเตือนให้กับความเป็นประชาธิปไตยในปัจจุบัน โดยในการสำรวจของศูนย์วิจัยพิว พบว่า ความเป็นประชาธิปไตยน่าดึงดูดใจน้อยลงแม้จะยังเป็นระบอบที่ประชาชนยังต้องการทั่วโลกก็ตาม ขณะที่ Freedom House องค์กรสนับสนุนประชาธิปไตยในกรุงวอชิงตัน ระบุในดัชนี "Freedom Index" ที่ตรวจสอบสถานะประชาธิปไตยทั่วโลก พบว่า ความพึงพอใจในความเป็นประชาธิปไตยทั่วโลกลดลงต่อเนื่องตลอดช่วง 18 ปีที่ผ่านมานี้

เอเดรียน ชาห์บาส จาก Freedom House บอกกับเอพีว่า สัญญาณนี้เริ่มเห็นได้หลังวิกฤตที่เปลี่ยนผันในช่วงศตวรรษนี้ อาทิ วินาศกรรม 11 กันยายน วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมทั้งประเด็นวิกฤตด้านอัตลักษณ์ อย่างนโยบายคนข้ามเพศ และนโยบายผู้อพยพในการเมืองประชาธิปไตยในสหรัฐและยุโรป โดยทิ้งท้ายกับเอพีว่า “ความแตกแยกที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยมีแนวโน้มที่จะเกี่ยวกับประเด็นอัตลักษณ์มากกว่าประเด็นทางเศรษฐกิจ” และเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG