ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไข้หวัดนกในอเมริกา<br>America's Bird Flu Not a Threat to Humans - 2004-02-23


ไข้หวัดนกในอเมริกา

คนเลี้ยงไก่ในอเมริกานับหมื่นๆรายกำลังวิตกกังวลไม่แพ้คนเลี้ยงไก่ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ในสัปดาห์ที่แล้ว จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลย์เชีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ระงับการนำเข้าไก่จากอเมริกา สองสามวันก่อนหน้านั้น รัสเชีย ลูกค้าไก่รายใหญ่ที่สุดของอเมริการะงับการนำเข้าในทันทีที่รู้ว่า ไก่สองตัวในรัฐเดลาแวร์มีเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก แม้ว่าสายพันธุ์ของเชื้อโรคจะแตกต่างจากสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทย เวียตนามและอีกหลายประเทศในเอเชียตรงที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ รัฐเดลาแวร์ซึ่งเป็นรัฐเล็กๆในฝั่งตะวันออกของอเมริกา ใกล้กับกรุงวอชิงตันสั่งทำลายไก่ไปแล้วราวๆหนึ่งแสนตัว และไม่ให้มีการขนย้ายไก่ในบริเวณรัศมี 10 กิโลเมตรของฟาร์มไก่ที่เป็นแหล่งที่มาของโรคระบาด และห้ามการขายไก่ทั่วรัฐ ในขณะที่รัฐอื่นๆที่เลี้ยงไก่เหมือนกัน เรียกร้องผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ให้ลงโทษตนเพราะปัญหาของรัฐเดลาแวร์

อีกไม่กี่วันต่อมา พบเชื้อไข้หวัดนกในไก่สี่ตัวในรัฐนิว เจอร์ซี่ ซึ่งอยู่ติดกับเดลาแวร์ ทำให้ปัญหาสลับซับซ้อนมากขึ้น แม้ว่าปริมาณไก่ส่งออกจากนิว เจอร์ซี่และเดลาแวร์รวมกันแล้ว ไม่ถึง 10 % ของปริมาณที่ส่งออกทั้งหมด อเมริกาส่งสัตว์ปีกออกนอกประเทศในปีค.ศ. 2002 เป็นมูลค่าราวๆ 2.4 พันล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 20 % ของรายได้ทั้งหมดของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของประเทศ

ประเทศที่ระงับการนำเข้าไก่จากอเมริกา ดำเนินการดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยทางโภชนาการของประชาชนของตน รวมทั้งเพื่อปกป้องคุ้มครองไก่ในประเทศของตนด้วย ญี่ปุ่นซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของประเทศไทย กำลังหันไปซื้อไก่จากบราซิลเพิ่มขึ้นแทนที่

ที่กลัวกันจนถึงต้องระงับการนำเข้า ซึ่งทำความหายนะให้กับคนเลี้ยงไก่เป็นจำนวนมากในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยและอเมริกา และต้องฆ่าไก่ทิ้งเป็นจำนวนอย่างน้อย 80 ล้านตัวขึ้นไป ก็เพราะเชื้อไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า ไข้หวัดนก สามารถรวมตัวเข้ากับเชื้อพันธุ์ในร่างกายของมนุษย์ และกลายพันธุ์เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ฤทธิ์ร้ายแรงเหมือนอย่าง “ไข้หวัดใหญ่เสปน” ในปี 1918 ที่ระบาดทั่วโลก ทำให้มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 20 - 40 ล้านคน และแม้ว่า ผลการวิเคราะห์เท่าที่ทำไประบุว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกของปี 2004 ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเชื้อไวรัสของปี 1918 ก็ตาม มีอยู่สองอย่างที่เหมือนกัน กล่าวคือ เชื้อไข้หวัดใหญ่เสปนมาจากนก และก็เป็นเชื้อที่กระโดดเข้าใส่มนุษย์เหมือนกัน

ปัญหาสำคัญอันหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาด คือการที่รัฐบาลปกปิดการระบาดด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยไม่ยอมรับความจริงว่าไม่มีใครจะปกปิดเรื่องอย่างนี้ได้สำเร็จ ดูกรณีโรคไว้หวัดมรณะ หรือโรคซาร์ที่ระบาดในประเทศจีนในปีที่แล้วเป็นตัวอย่าง

ประสบการณ์ที่แล้วๆมาส่อให้เห็นว่า การห้ามการนำเข้าจะถูกยกเลิกเมื่อรัฐบาลของประเทศที่ประสบปัญหาแสดงให้เห็นว่า ได้วินิจฉัยปัญหาอย่างถูกต้องและสามารถกำจัดเชื้อโรคได้อย่างจริงจัง

นิตยา มาพึ่งพงศ์
VOA ภาคภาษาไทย Washington

XS
SM
MD
LG