ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การรักษาตัวให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก<br>WHO Advises Farmers And Consumers How To Avoid Avian Flu. - 2004-01-30


การรักษาตัวให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก

ไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกที่กำลังระบาดอยู่ในหลายประเทศในเอเชียขณะนี้ ส่วนใหญ่มาจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A - H5N1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่ามนุษย์ติดมาจากสัตว์โดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะตามธรรมดามีแต่นกและหมูเท่านั้นที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก แต่เมื่อปีค.ศ. 1997 มีคนในฮ่องกง 18 คนติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A - H5N1 และ 6 คนเสียชีวิต ในเวลานั้น ฮ่องกงมีไก่อยู่ทั้งหมดราวๆ 1 ล้าน 5 แสนตัว ซึ่งถูกทำลายหมดภายในเวลา 3 วัน และเป็นที่เชื่อกันว่า การดำเนินการเช่นนั้นสกัดกั้นการแพร่ระบาดต่อไปได้ สายพันธุ์ A - H5N1 เป็นสายพันธุ์ที่นักวิทยาศาสตร์วิตกกังวล เพราะกลายพันธุ์ได้เร็ว และทำให้มนุษย์ไม่สบายได้อย่างหนัก ส่วนนกที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้และรอดชีวิตมาได้ ในช่วงเวลาอย่างน้อย 10 วันหลังจากนั้น นกตัวนั้นจะแพร่เชื้อออกมาทั้งทางปากและทางมูลนก กระทบกระเทือนได้ทั้งสัตว์ปีกตามตลาดและนกป่า ยิ่งมีนกป่วยเป็นจำนวนมาก โอกาสที่คนจะติดเชื้อโดยตรงก็มีมากขึ้นไปด้วย และเมื่อมีมนุษย์ติดเชื้อมากขึ้น โอกาสที่มนุษย์จะติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งของมนุษย์และของนกก็มีมากขึ้นตามไปด้วย มนุษย์กลายเป็น “ภาชนะ” ให้เชื้อไวรัสทั้งสองผสมกัน และกลายพันธุ์เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่จากคนไปสู่คนได้โดยตรง กล่าวคือกลายเป็นโรคระบาดนั่นเอง

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังทำงานอย่างเร่งรีบเพื่อค้นคว้าหาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำให้กับทั้งชาวไร่ชาวนาที่เลี้ยงไก่ และผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ สำหรับผู้ที่เลี้ยงไก่ กรงไก่จะต้องสะอาด และไม่ควรถูกต้องมูลไก่หรือเนื้อไก่ที่ยังไม่ได้ทำให้สุกโดยตรง ถ้ามีไก่ที่ตายแล้ว ให้รวมกองฝัง ไม่ควรนำไปรับประทาน ผู้ที่ฝังไก่ต้องสวมถุงมือ มีหน้ากากปิดจมูกและปาก ถ้าไม่มีหน้ากาก ใช้เสื้อยืดพันแทนได้ ใส่แว่นตากันฝุ่นกันของเหลวจากไก่ที่อาจกระเด็นมาโดน จากนั้นใช้น้ำสบู่ขัดล้างบริเวณเล้าไก่ ใช้คราดกวาดมูลไก่ไปฝังรวมกับไก่ที่ตายแล้ว ที่ฝังนั้นให้ห่างจากบริเวณที่อยู่อาศัยมากทีเดียว

เท่าที่ปรากฏ ผู้ที่ติดเชื้อดูจะติดมาจากไก่ที่ไม่สบาย คนที่จับต้องไก่ที่ไม่สบาย ให้ซักเสื้อผ้าและทำความสะอาดร่างกายก่อนจะกลับเข้าบ้าน หรือถูกต้องตัวผู้อื่น ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกบอกว่า ไก่ที่ยังแข็งแรงอยู่นั้น รับประทานได้ แต่ต้องทำกับข้าวอย่างถูกต้องสุขอนามัย เนื้อไก่นั้นต้องทำให้สุกด้วยไฟแรงนานกว่า 10 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าฆ่าเชื้อไวรัสทั้งหมด การฆ่าและทำความสะอาดไก่นั้น ให้ทำห่างจากที่ทำกับข้าว ใช้น้ำสบู่ล้างมีดและเขียงที่ใช้ในการฆ่าและทำความสะอาดในทันที ดร. เค วาย ยืน นักจุลชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง ยืนยันว่า หนทางเดียวที่จะติดเชื้อไวรัสจากการรับประทานเนื้อไก่ คือเกิดการปนเปื้อนกับเนื้อที่ทำให้สุกแล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะเขียงหรือจานใส่อาหารไม่สะอาดโดยถูกปนเปื้อนด้วยมูลไก่ที่ถูกฆ่า อย่างนี้เป็นต้น

ท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ควรแยกสัตว์อื่นๆในฟาร์มไม่ให้อยู่ใกล้ไก่

นิตยา มาพึ่งพงศ์
VOA ภาคภาษาไทย Washington

XS
SM
MD
LG