ลิ้งค์เชื่อมต่อ

The Internet Wars: Who should be in Control? - 2003-12-25


สงครามอินเทอร์เน็ท

การประชุมเรื่องอนาคตของอินเทอร์เน็ท หรือทางหลวงสารสนเทศ จะมีขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในสัปดาห์นี้ รายงานข่าวกล่าวว่า จะมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง ผู้นำทางธุรกิจ และผู้แทนขององค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรรวมแล้วประมาณ 5,000 คน จากประเทศต่างๆกว่า 60 ประเทศไปปรึกษาหารือกันในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ท อย่างเช่น ทำอย่างไรจึงจะลดช่องว่างในการใช้อินเทอร์เน็ทระหว่างประเทศที่ยากจนกับประเทศที่ร่ำรวย หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Digital Divide’ ได้ ควรจะมีการควบคุมดูแลอินเทอร์เน็ทอย่างไรบ้าง จะจัดการกับโฆษณาและอีเมลที่ก่อกวนแทรกแซงผู้ใช้อินเทอร์เน็ท รวมทั้งเรื่องลามกอนาจารทางอินเทอร์เน็ท ได้อย่างไร แต่ดูเหมือนว่าประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับการประชุมที่ว่านี้จะเป็นคำถามที่ว่า ควรจะให้องค์การสหประชาชาติเป็นผู้ควบคุมอินเทอร์เน็ทแทนที่กลุ่มเอกชนในอเมริกาอย่าง Icann ซึ่งย่อมาจาก Internet Corporation for Assigned Names and Numbers หรือไม่

รัฐบาลสหรัฐเป็นผู้จัดตั้งกลุ่มเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรกลุ่มนี้ขึ้นมาเมื่อปีค.ศ. 1998 เพื่อควบคุมดูแลการประสานงานทางเทคนิคให้กับอินเทอร์เน็ทซึ่งเป็นข่ายงานทั่วโลก และเพราะว่าอินเทอร์เน็ทเริ่มต้นขึ้นในอเมริกา ผลประโยชน์และความคิดเห็นของอเมริกาจึงผูกพันเป็นอย่างมากกับอินเทอร์เน็ท แต่นาย Talal Abu-Ghazaleh นักธุรกิจชาวจอร์แดน ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานคณะปฏิบัติงานทางเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารติดต่อของสหประชาชาติ ให้ความเห็นไว้ว่า “แม้โลกจะรู้สึกขอบคุณอเมริกาที่สร้างอินเทอร์เน็ทขึ้นมา แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่ส่วนอื่นๆของโลก จะต้องมีสิทธิมีเสียงในการควบคุมอินเทอร์เน็ทมากขึ้น”

นาย Talal Abu-Ghazaleh กล่าวว่า จะเสนอให้คณะทำงานทางด้านการสื่อสารติดต่อของสหประชาชาติเป็นผู้ควบคุมการทำงานของ Icann โดยที่รัฐบาล ภาคเอกชน และองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลในคณะทำงานดังกล่าวมีสถานภาพเท่าเทียมกัน จะมีคณะกรรมการควบคุมการทำงานของ Icann โดยสหรัฐจะดำรงตำแหน่งประธานเป็นการถาวร ส่วนสมาชิกถาวรอื่นๆของคณะกรรมการชุดนี้จะมาจากหน่วยงานต่างๆของสหประชาชาติ เช่น สหภาพแรงงานโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ที่ประชุมว่าด้วยเรื่องการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD องค์การทรัพย์สินทางปัญญาของโลก และสภาหอการระหว่างประเทศ นอกจากนี้จะมีผู้แทนของแต่ละทวีป ที่ได้รับการเลือกตั้งมาโดยประเทศต่างๆในทวีปนั้นๆ Icann เองนั้น ให้อยู่ได้ต่อไปในอเมริกา ปฏิบัติตามกฎหมายของอเมริกา และสำหรับผู้ที่ทำงานทางด้านเทคนิคของ Icann ก็ให้ทำงานในด้านนั้นได้ต่อไป

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐกล่าวไว้ในสัปดาห์ที่แล้วว่า “จุดยืนของรัฐบาลสหรัฐในเรื่องนี้ ก็คือ อินเทอร์เน็ทมาจากการประสานงานและดำเนินการโดยภาคเอกชน และก็ควรเป็นเช่นนั้นต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐก็มุ่งมั่นที่จะรับประกันให้ Icann รักษาดุลยภาพในหมู่ผู้ถือผลประโยชน์ร่วมกันไว้ด้วย”

นาย Paul Twomey ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย และดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของ Icann บอกว่า เวลานี้มีผู้แทนจากประเทศต่างๆเกือบ 100 ประเทศนั่งอยู่ในคณะกรรมการที่ปรึกษาของ Icann และในปีค.ศ. 2004 Icannจะเปิดสำนักงานภาคขึ้นในยุโรป แอฟริกา ลาติน อเมริกา และเอเชีย เจ้าหน้าที่ของ Icann ผู้นี้ อธิบายว่า งานที่ Icann ทำนั้นจำกัดอยู่ในเรื่องทางเทคนิค อย่างเช่น การจัดรูปแบบสำหรับอินเทอร์เน็ท แอดเดรส และว่า ถ้ารัฐบาลต่างๆคิดว่าจะหาทางจัดการกับปัญหาเรื่องโฆษณาที่ก่อกวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ท เรื่องลามกอนาจารโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเด็ก และเรื่องการทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ทได้ ก็จะยินดีมาก เพราะไม่ใช่สิ่งที่ Icann ทำ และก็อยากจะให้เป็นที่เข้าใจว่า Icann จะไม่ขวางทางผู้ที่ต้องการจัดการกับปัญหาเหล่านั้นทางอินเทอร์เน็ท แต่ที่คิดว่า Icann ควรจะได้ทำต่อไปนั้น คือเรื่องทางเทคนิคในอินเทอร์เน็ททั้งหมด

ผู้จัดการใหญ่ของ Icann กล่าวส่งท้ายไว้ด้วยว่า “ถ้าของไม่เสีย ทำไมจึงจะต้องซ่อมแซมแก้ไข”

นิตยา มาพึ่งพงศ์
VOA Washington

XS
SM
MD
LG