ลิ้งค์เชื่อมต่อ

Survey Shows Iraqis Want Democracy Now - 2003-12-25


ผลการสำรวจทัศนคติของชาวอิรัค

ผลการสำรวจทัศนคติของชาวอิรัคที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมในประเทศอังกฤษ แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ต้องการประชาธิปไตย และโล่งใจที่อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนพ้นจากอำนาจไป

Oxford Research International ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนทำงานทางด้านการให้คำปรึกษาแนะนำเป็นผู้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น ด้วยการสัมภาษณ์ชาวอิรัคมากกว่า 3200 คนทั่วประเทศระหว่างเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนในปีนี้

คำตอบน่าสนใจบางส่วนที่ได้จากการสำรวจ แสดงให้เห็นว่า ชาวอิรัค 9 ใน 10 คนที่ตอบแบบสอบถาม กล่าวว่า อิรัคต้องการประชาธิปไตยเดี๋ยวนี้ และ 7 ใน 10 คนให้ความเห็นไว้ด้วยว่า อิรัคจะต้องมีผู้นำประเทศที่เข้มแข็ง

มากกว่า 80% ของผู้ที่ร่วมการสำรวจทัศนคติ บอกว่า ประชาธิปไตยอาจเป็นรูปแบบของการปกครองที่มีปัญหา แต่ก็เป็นรูปแบบของการปกครองที่ดีกว่ารูปแบบอื่นๆ และเกือบ 90% ให้ความเห็นว่า รัฐบาลจะต้องเป็นตัวแทนให้กับกลุ่มใหญ่ทุกกลุ่มในสังคมที่มีการแบ่งแยกในทางชาติพันธุ์และทางศาสนาอย่างอิรัค

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ระบุไว้เลยว่า ไม่สนใจการเมือง มีไม่ถึง 20% ที่บอกว่าได้พูดคุยเรื่องการเมืองกับคนอื่นๆ

รายงานการสำรวจความคิดเห็นชาวอิรัคฉบับนี้ กล่าวว่า มีความเห็นร่วมกันอย่าง “ท่วมท้น” ในหมู่ผู้ที่ตอบคำถามว่า การล่มสลายของระบอบปกครองของซัดดัม ฮุสเซน เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่สิ่งที่เลวที่สุดที่เกิดขึ้น คือ สงคราม การถูกทิ้งระเบิด และความพ่ายแพ้

ในขณะเดียวกัน ผลการสำรวจทัศนคติชาวอิรัคในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา พบว่า คนอิรัคมีความรู้สึกขอบอกขอบใจน้อยมากต่อทหารของสหรัฐ และของอังกฤษที่โค่นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน และผู้เขียนรายงานลงความเห็นว่า กำลังทหารที่ยึดครองอิรัคอยู่ในขณะนี้ เป็นสถาบันที่ชาวอิรัคไม่ให้ความเชื่อถือมากที่สุด

มีราวๆ 20% เท่านั้นที่ตอบว่ามีความเชื่อมั่นเป็นอย่างมาก หรือมากทีเดียวในทหารต่างชาติ ในขณะที่ผู้นำทางศาสนาในอิรัคเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนมากถึง 70% ขณะเดียวกัน มีเพียง 12% เท่านั้นที่ยอมรับว่าต้องการรัฐบาลที่มาจากผู้นำทางศาสนา และมีไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่อยากจะให้มีการสถาปนาระบอบการปกครองที่อาศัยศาสนาอิสลามเป็นหลัก

ฟังดูแล้วไม่คิดว่าชาวอิรัคมีความมุ่งหวังในอนาคตที่แตกต่างไปจากผู้คนในประเทศอื่นๆ แต่จะประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้หรือไม่นั้น ยังไม่มีใครตอบได้ เพราะนอก -จากจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากประชาคมนานาชาติแล้ว ชาวอิรัคเองจะต้องร่วมกันตัดสินใจและร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อไปให้ถึงดวงดาวให้ได้

นิตยา มาพึ่งพงศ์
VOA Washington

XS
SM
MD
LG