ลิ้งค์เชื่อมต่อ

2003 Nobel Peace Prize - 2003-12-24


รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นรางวัลที่มีการติดตามข่าวและเป็นที่กล่าวขวัญมากกว่าสาขาอื่นๆ และในปีนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้นต่อไป ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ คือ คุณชีรีน เอบอดี ทนายความ นักเขียน และอาจารย์มหาวิทยาลัยในอิหร่านวัย 56 ปี นอกอิหร่านไม่ค่อยจะมีใครเคยได้ยินชื่อเสียงของนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษย-ชนคนนี้ แต่ในอิหร่านแล้ว ใครๆก็รู้จักเธอรวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย และผู้มีอำนาจ ปกครองประเทศ เมื่อเธอถูกศาลพิพาษาให้ต้องโทษจำคุกเป็นเวลาสามสัปดาห์เพราะ เผยแพร่เทปบันทึกเสียงที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองเมื่อสามปีที่แล้ว

คุณชีรีน เอบอดีเป็นสตรีชาวมุสลิมคนแรก และเป็นชาวอิหร่านคนแรกที่ได้รับ รางวัลนี้ เมื่อเธอมีอายุได้ 37 ปี เธอเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาหญิงคนแรกของอิหร่าน แต่หลังการปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ. 2512 ซึ่งเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของอิหร่านไปเป็นรัฐ อิสลาม ผู้พิพากษาชีรีน เอบอดีต้องลาออกจากตำแหน่งเพราะการปกครองในระบอบ ดังกล่าวห้ามไม่ให้สตรีเป็นผู้พิพากษา

แต่นักกฎหมายผู้นี้มีงานอื่นให้ทำเต็มมือ ซึ่งรวมทั้งการว่าความให้กับผู้ที่ถูกรัฐบาล ฟ้องร้องดำเนินคดีเนื่องจากมีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล นอกจากนี้ เธอยังเขียน หนังสือและบทความไว้มากมายหลายเล่มและชิ้น รวมทั้งหนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์และ การทำเอกสารเรื่องสิทธิมนุษยชนในอิหร่าน” ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพคนล่าสุด นี้ยังเป็นที่รู้จักในประเทศของเธอเองด้วยว่า เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรี ของเด็กและชน กลุ่มน้อย

รายงานข่าวในหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค ไทม์สกล่าวว่ารายชื่อที่มีผู้เสนอให้คณะ กรรมการโนเบลสาขาสันติภาพพิจารณาสำหรับรางวัลปีนี้ มีรวมทั้งหมด 164 ชื่อด้วยกัน ในจำนวนนี้มีพระสันตปาปาจอห์น พอลที่สอง และอดีตประธานาธิบดี วัซลาฟ ฮาเวิล ของสาธารณรัฐเชครวมอยู่ด้วย

ในการให้สัมภาษณ์กับภาคภาษาฟาร์ซีของวีโอเอ คุณชีรีน เอบอดีกล่าวแสดง ความหวังว่าการได้รับรางวัลครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้มีการปลดปล่อยนักโทษการเมืองใน อิหร่าน และอยากเห็นอิหร่านก้าวหน้าไปเป็นสังคมที่ให้และคุ้มครองสิทธิของประชาชน ทุกคน เธอบอกว่าการจะดูว่าสังคมใดมีความเข้มแข็งมากน้อยเพียงใดนั้น ให้ดูวิถีทางที่ สังคมนั้นๆปกป้องคุ้มครองผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด คุณชีรีน เอบอดี ผู้ได้รับ รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพสำหรับปี 2546 นี้ยังกล่าวไว้ด้วยว่า “ไม่มีความขัดแย้งกัน ระหว่างศาสนาอิสลามกับสิทธิมนุษยชน ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยกล่าวอ้างว่ากระทำไปในนามของศาสนาอิสลาม นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของศาสนา อิสลาม”

นิตยา มาพึ่งพงศ์
วีโอเอ ภาคภาษาไทย
วอชิงตัน

XS
SM
MD
LG