ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การศึกษายุคโลกาภิวัฒน์<BR>EDUCATION AND GLOBALIZATION - 2003-09-09


ธนาคารการพัฒนาเอเชียเพิ่งเผยแพร่รายงานเรื่องการศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจออกมา รายงานฉบับล่าสุดนี้ระบุว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องเร่งรัดปฏิรูปการศึกษา มิฉะนั้นจะแข่งขันกับเศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตก้าวหน้าไม่ได้ สำหรับประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าอยู่แล้ว อย่างเช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และเกาหลีใต้นั้น นอกจากจะมีระบบการศึกษาที่ดีแล้ว รัฐบาลยังให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันด้วย ส่วนประเทศที่ยากจนอย่างเช่น แอฟกานิสถาน บังคลาเทศ และลาวนั้น มาตรฐานการศึกษาต่ำมาก 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงอ่านเขียนหนังสือไม่ได้ และเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ของเด็กๆในกัมพูชาและปากีสถานได้เรียนถึงระดับมัธยมต้น

สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานของธนาคารการพัฒนาเอเชียกล่าวว่า รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะต้องเร่งรัดปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้แรงงานมีความรู้ความชำนาญพอที่จะแข่งขันกับแรงงานจีนซึ่งค่าจ้างถูกได้ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารระบุออกมาเลยว่า ความได้เปรียบที่ประเทศไทยและมาเลย์เชียเคยมีในเรื่องแรงงานค่าจ้างถูกนั้น ไม่มีอีกต่อไปแล้ว เพราะมีแรงงานจีนมาแทนที่

ในบางประเทศนั้น นอกจากจะมีช่องว่างระหว่างเด็กนักเรียนที่ครอบครัวมีฐานะดีกับที่ยากจนแล้ว เด็กผู้หญิง เด็กจากชนกลุ่มน้อย และเด็กในชนบทมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับการศึกษา และการศึกษาที่ได้รับยังมีคุณภาพต่ำอีกด้วย ซึ่งในที่สุดแล้ว ยิ่งทำให้ช่องว่างนั้นกว้างมากขึ้นไปอีกด้วย

ยังมีช่องว่างที่เกี่ยวโยงกับการศึกษาอีกด้านหนึ่งที่เพิ่มความกว้างขึ้นไปด้วย กล่าวคือโอกาสสำหรับการศึกษาหาความรู้สำหรับคนในชาติตะวันตกกับตะวันออก สถาบันอุดมศึกษาเป็นจำนวนมากในอเมริกาเวลานี้เสนอโครงการศึกษาในรูปแบบต่างๆกัน ทั้งที่ให้ปริญญา ประกาศนียบัตร หรือเพียงใบรับรอง แก่นักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมปลายไปจนถึงผู้ที่อยู่ในวัยทอง อย่างอดีตส.ส. รอน มาโซลี่จากรัฐเคนทั๊คกี้ วัย 70 ที่เพิ่งจะย้ายเข้าหอพักนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เพื่อจะเรียนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ หรือคุณดอรอธี มอร์แกน ซึ่งเวลานี้อายุ 84 ปี และกำลังเรียนวิชาปรัชญาและศาสนาอยู่ที่มหาวิทยาลัยไอโอวา สเตท ทั้งสองคนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคนอเมริกันอายุเกิน 65 ปีเกือบแปดหมื่นคนที่กลับไปเรียนหนังสือกันอีก

การเปิด “โอกาสการศึกษา” ให้กับคนทุกรุ่นทุกวัยช่วยให้สถาบันการศึกษาไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่เพิ่มทางเลือกในอาชีพการงานให้กับแรงงานที่กลับเข้าโรงเรียน นอกจากนี้ นักศึกษาที่มีอายุสูงกว่ายังมักจะมีความรอบรู้ มีประสบการณ์ และมีแง่คิดมุมมองของผู้ที่ผ่านโลกมาแล้วมาเผื่อแผ่ให้กับบรรยากาศของการเรียนการสอนอีกด้วย กล่าวได้ว่าเป็นการลงทุนที่หุ้นส่วนทุกฝ่ายได้กำไร

นิตยา มาพึ่งพงศ์
วีโอเอ ภาคภาษาไทย
วอชิงตัน

XS
SM
MD
LG