ศาสตราจารย์ Peter Maitz หัวหน้าโครงการวิจัยที่ว่านี้ และแพทย์ประจำโรงพยาบาล Concord ในนครซิดนี่ย์ อธิบายว่า แนวคิดสำหรับวิธีเพาะผิวหนังใหม่นี้ คือสร้างโครงที่มีรูปลักษณะเหมือนฟองน้ำขึ้นมา
โครงนี้ก็เหมือนกับการสร้างร้านสำหรับงานก่อสร้าง ซึ่งตามปกติแล้ว ผิวหนังมนุษย์เรามีโครงที่ว่านี้ แต่อยู่ในชั้นของผิวหนังที่ลึกลงไป เมื่อทำโครงขึ้นมาแล้ว ก็จะใช้แซลล์ผิวหนังของคนไข้เองเพาะผิวหนังใหม่ขึ้นมาหุ้มโครง
งานที่จะยากจริงๆคือการนำผิวหนังที่เพาะขึ้นมา ไปปะตรงส่วนของร่างกายที่ต้องการ ถ้าร่างกายของคนไข้รับผิวหนังใหม่ก็จะถือว่า เป็นผลสำเร็จยิ่งใหญ่ทางพันธุวิศวกรรม
ผู้ที่ถูกไฟลวก โดยเฉพาะผู้ที่ถูกลวกลึกผ่านผิวหนังลงไปหลายชั้น แม้จะเข้ารับการผ่าตัดนำผิวหนังที่ดี จากส่วนอื่นของร่างกายมาปะ ปิดแผลได้ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ผิวหนังที่ปะนั้นให้ประโยชน์ ในการปิดแผลเท่านั้น ผิวหนังส่วนนั้น ไม่ยืด ไม่มีเหงื่อออก หรือมีขนขึ้น
ถ้าบริเวณที่ถูกลวกเป็นส่วนที่ต้องงอได้ พับได้ ยืดได้ อย่างเช่นตามข้อต่างๆ การทำกายภาพบำบัดจะใช้เวลานานและเจ็บปวดทีเดียว
และถ้าผู้ป่วยเป็นเด็กด้วยแล้ว เมื่อร่างกายเติบโตขึ้น ผิวหนังที่ปะไว้ไม่ขยายตัวตามไปด้วย ทำให้ผู้ป่วยเด็กเหล่านี้ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนผิวหนังเป็นประจำ
ที่ทีมนักวิจัยชุดนี้ตื่นเต้นกับงานที่กำลังทำอยู่ ก็เพราะเชื่อว่าการนำผิวหนังที่เพาะขึ้นมาจากแซลล์พื้นฐาน หรือ stem cell ของคนไข้ที่ถูกไฟลวกเองนี้ มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะช่วยเด็กๆที่ถูกไฟลวก เพราะจะเป็นผิวหนังของเด็กเองที่เพาะขึ้นมาใหม่ ในโครงสร้างที่ว่านั้น
จะมีการทดลองกับหนูและหมูในห้องทดลองที่ซิดนี่ย์ปีหน้านี้ และอาจจะเริ่มการทดลองกับมนุษย์ ได้ภายในเวลาสามปีข้างหน้า มีทีมวิจัยเรื่องเดียวกันนี้ทั้งในยุโรปและสหรัฐด้วย