ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ข้อตกลงหลังการประชุมสุดยอด เรื่องแม่น้ำโขงที่หัวหิน


ข้อตกลงหลังการประชุมสุดยอด เรื่องแม่น้ำโขงที่หัวหิน
ข้อตกลงหลังการประชุมสุดยอด เรื่องแม่น้ำโขงที่หัวหิน

การประชุมสุดยอดเรื่องแม่น้ำโขง ที่หัวหินสิ้นสุดลงด้วยความตกลงจากบรรดาผู้นำประเทศที่ต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายสำคัญสายนี้ว่า จะมีความร่วมมือที่ดีขึ้นในการใช้ทรัพยากรของแม่โขง

ข้อตกลงนี้มีขึ้นหลังจากที่ภาวะแห้งแล้งอย่างหนัก ทำให้ระดับน้ำของแม่โขงลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 50 ปีมานี้

จีนซึ่งส่งผู้แทนมาร่วมการประชุมได้ให้ข้อมูล เกี่ยวกับเขื่อนที่ตนสร้างขึ้นในแม่โขง ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่เหนือประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียตนาม แต่คำถามก็คือ ข้อมูลที่จีนให้นั้น เพียงพอหรือไม่ และจีนจะให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นปกติวิสัย เพื่อประเทศที่ร่วมใช้ประโยชน์จากแม่โขงจะได้มีโอกาสเตรียมตัวสำหรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่

นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ลาว ประเทศไทย และเวียตนามลงความเห็นร่วมกันว่า จะต้องมีความร่วมมือที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้ได้ความสมดุลทางด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากแม่โขง และปกป้องคุ้มครองการดำรงชีพของประชาชนนับสิบๆ ล้านคน

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเน้นย้ำความสำคัญ ในการร่วมกันรับผิดชอบการบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรของแม่โขง

นายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวว่า ช่วงเวลานี้เหมาะสมสำหรับการร่วมมือในระดับสูงอย่างนี้ เพราะแม่โขงกำลังมีปัญหาใหญ่ สืบเนื่องมาจากการใช้น้ำอย่างไม่คิดถึงระยะยาว และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศโลก เพราะฉะนั้นที่เราพบเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ คือ ระดับน้ำลดลงและมีน้ำไม่พอใช้ เกิดภาวะมลพิษ และทรัพยากรธรรมชาติของแม่โขงเองลดลงเป็นอย่างมาก

ภาวะแห้งแล้งในปีที่แล้วในภาคใต้ของจีน และเอเชียอาคเนย์ทำให้ระดับน้ำของแม่โขงลดต่ำลง เป็นประวัติการณ์ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา นักกิจกรรมและเกษตรกรกล่าวโทษว่าสาเหตุมาจากเขื่อนที่อยู่ต้นน้ำในจีน ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่สืบเนื่องกับการขาดแคลนข้อมูลจากจีน เกี่ยวกับเขื่อนที่จีนสร้างขึ้นในแม่โขง

ในที่ประชุมสุดยอดครั้งนี้ จีนได้ให้ข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับกระแสน้ำที่ไหลผ่านเขื่อน ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา แต่มิได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของเขื่อนให้เป็นปกติวิสัย หรือแผนของตนว่าจะสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่

ผู้แทนของจีนในที่ประชุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ Song Tao กล่าวว่า รัฐบาลจีนได้พัฒนาและใช้น้ำจากแม่โขง ในลักษณะที่สมเหตุผลและยั่งยืน เป็นระเบียบ และเอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ของประเทศต่างๆ ที่อยู่ปลายน้ำอย่างเต็มที่

คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำแม่โขง หรือเรียกย่อๆ ว่า MRC ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุม กล่าวว่าถ้าจีนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของเขื่อนในแม่โขงเป็นปกติวิสัย จะช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในตอนล่างของแม่น้ำและต้องพึ่งพาอาศัยแม่โขง เตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกทั้งสี่ กล่าวคือ กัมพูชา ลาว ประเทศไทยและเวียตนามทำความตกลงที่จะส่งเสริมโครงการพลังน้ำแบบยั่งยืนในแม่โขง และจะให้มีการประชุมสุดยอดอย่างนี้ทุกๆ สี่ปีด้วย

จีนและพม่า ซึ่งส่งผู้แทนไปร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย ตัดสินใจไม่เข้าเป็นสมาชิกของคณะกรรมการชุดนี้ แม้จะได้รับเชิญ




XS
SM
MD
LG