ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้ที่รับประทานยาแก้โรคกระดูกพรุนนานกว่า 4 ปี เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกโคนขาแตก


ผู้ที่รับประทานยาแก้โรคกระดูกพรุนนานกว่า 4 ปี เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกโคนขาแตก
ผู้ที่รับประทานยาแก้โรคกระดูกพรุนนานกว่า 4 ปี เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกโคนขาแตก

ปัจจุบัน สตรีสูงอายุทั่วโลกหลายล้านคน รวมทั้งผู้ชายสูงอายุอีกจำนวนหนึ่ง ต่างใช้ยาป้องกันกระดูกร้าว และยาต่อสู้กับโรคกระดูกพรุน ซึ่งเกิดจากการที่กระดูกอ่อนแอลงเมื่อแก่ตัว แต่ล่าสุดแพทย์ต่างกังวลว่า ผู้ป่วยที่รับประทานยารักษาโรคกระดูกพรุน เช่นยา Fosamax เป็นเวลานานมากกว่า 4 ปี อาจมีความเสี่ยง ที่จะเกิดเหตุการณ์กระดูกโคนขาแตก แบบปัจจุบันทันด่วนได้

คุณ Sandy Potter ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน รับประทานยา Fosamax มา 8 ปีแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ เธอเพิ่งเกิดอาการกระดูกโคนขาแตก ขณะที่กำลังเล่นกระโดดเชือกกับเด็กๆ หน้าบ้าน ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแสนสาหัส อย่างที่เธอไม่เคยรู้สึกมาก่อน ทั้งที่เคยผ่านการมีบุตรมาแล้วถึง 5 คน

ยา Fosamax หรือที่มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Alendronate เป็นยาที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน ที่อยู่ในกลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต ซึ่งเชื่อว่ามีสรรพคุณ เพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก และป้องกันการแตกร้าวได้

อย่างไรก็ตาม รายงานวิจัยบางชิ้น เช่น การวิจัยของนายแพทย์ Robert Bunning แห่งโรงพยาบาลบำบัดฟื้นฟูแห่งชาติ ในกรุงวอชิงตัน ชี้ให้เห็นว่า คนไข้ที่ใช้ยาดังกล่าวมานานเกินกว่า 4 ปี มีความเสี่ยงที่จะกระดูกแตก มากกว่าผู้ที่ใช้ยามาไม่นาน

นายแพทย์ Bunning กล่าวว่านั่นน่าจะเป็นเพราะผลข้างเคียงในระยะยาว อาจมีรอยร้าว จากแรงกดทับที่ไม่ได้รับการซ่อมแซม และกระดูกก็เริ่มเปราะขึ้น อาการดังกล่าว อาจไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่จะเกิดขึ้นทันทีทันใด ซึ่งนายแพทย์ผู้นี้เชื่อว่า เป็นเพราะยาประเภทบิสฟอสโฟเนต โดยเฉพาะยา Fosamax นั่นเอง

นายแพทย์ Bunning ระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีรายงานว่าผู้รับประทานยา Fosamax มีอาการกระดูกแตก มากกว่ายาชนิดอื่นนั้น เป็นเพราะยา Fosamax เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนชนิดแรก ที่ออกสู่ตลาด หรืออาจเป็นเพราะ Fosamax มีความเข้มข้นมากกว่ายาชนิดอื่นและเจาะตลาดได้กว้างกว่า

ยา Fosamax เป็นยาประเภทบิสฟอสโฟเนต ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยก่อนที่สิทธิบัตรยาตัวนี้ จะหมดอายุลงเมื่อปี คศ.2008 ยา Fosamax ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 20 ของยาขายดีที่สุดในโลก 100 อันดับแรก อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตยา Fosamax คือ Merck and Company แจ้งกับทางวีโอเอว่า อาการกระดูกโคนขาแตกนั้น อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน รวมทั้งคนที่ไม่ได้ใช้ยา Fosamax

นายแพทย์ Michael Rosenblatt ประธานคณะเจ้าหน้าที่ผ่ายการแพทย์ของบริษัท Merck and Company ชี้ว่า คนที่ไม่ได้ใช้ยา Fosamax ก็สามารถเกิดอาการกระดูกโคนขาแตกได้เช่นกัน และทางบริษัทเชื่อว่า ประโยชน์ของยาบิสฟอสโฟเนต มีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นนั้น ในขณะเดียวกัน แม้จะมีรายงานเรื่องกระดูกโคนขาแตก แต่แพทย์ส่วนใหญ่รวมทั้งนายแพทย์ Robert Bunning ยืนยันว่าจะจ่ายยาบิสฟอสโฟเนต ให้กับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนต่อไป จนกว่าจะมีหลักฐานใหม่ แสดงให้เห็นว่ายาดังกล่าวมีผลข้างเคียงจริง และที่สำคัญคือจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาการใช้ยาตัวนี้ด้วย ทางด้านสำนักงานอาหารและยาสหรัฐหรือ FDA ขอให้ผู้ที่ใช้ยานี้อยู่รายงานกับแพทย์หรือ FDA ทันทีหากรู้สึกผิดปกติที่น่องหรือสะโพก

โรคกระดูกพรุนนี้เกิดขึ้นได้ กับประชากรโลกเกือบทุกพื้นที่ ทุกเชื้อชาติ มูลนิธิโรคกระดุกพรุนระหว่างประเทศ รายงานเมื่อปีที่แล้วว่า มีชาวเอเชียเป็นโรคนี้พอๆ กับชาวตะวันตก โดยเฉพาะที่ประเทศจีน รายงานบอกว่า ปัจจุบันมีคนจีนอายุมากกว่า 50 ปีเป็นโรคกระดูกพรุนเกือบ 70 ล้านคน


XS
SM
MD
LG