ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรค Alzheimer’s


รายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรค Alzheimer’s
รายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรค Alzheimer’s

โรค Alzheimer’s หรือที่เรียกกันว่าโรคสมองเสื่อม หรือสมองฝ่อ กำลังเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่ประชากรมีอายุสูงขึ้นโดยเฉลี่ย Alzheimer’s เป็นโรคที่น่ากลัวมากโรคหนึ่งของผู้สูงอายุ เพราะผู้ที่เป็นโรคนี้จะขาดการติดต่อกับโลกแห่งความเป็นจริง

เมื่อเร็วๆนี้ มีรายงานผลการวิเคราะห์เผยแพร่ออกมาที่กล่าวว่า โอกาสที่จะเป็นโรคนี้ลดน้อยลง ถ้าผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่าตนยังมีความมุ่งหมายในชีวิต

นักประสาทวิทยา Aron Buchman กล่าวว่า เมื่อคนเรามีอายุสูงขึ้น โอกาสเสี่ยงที่จะเป็น Alzheimer’s ก็เพิ่มขึ้นไปด้วย และผู้ที่เป็นโรคนี้ นอกจากจะถูกจำกัดในด้านความเป็นอยู่และความเป็นอิสระแล้ว อาการของโรคที่สำคัญคือการสูญเสียการรับรู้ หรือความเข้าใจ

และในฐานะส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเข้าใจโรค เพื่อหาวิธีบำบัดรักษา นักวิจัยผู้นี้ตั้งประเด็นขึ้นมาว่า การมีความรู้สึกว่าชีวิตมีความมุ่งหมาย จะมีผลกระทบอย่างไรบ้างต่อโรค Alzheimer’s เพราะเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ความรู้สึกเช่นนี้เกี่ยวโยงกับสุขภาพของคนเราในเชิงบวก

นักประสาทวิทยา Aron Buchman อธิบายว่า ผู้ที่มีความมุ่งหมายในชีวิตสูง ความเสี่ยงที่จะถึงแก่กรรมลดน้อยลง ความเสี่ยงที่จะเกิดการทุพพลภาพก็ลดลงด้วย และยังคงการเคลื่อนไหวร่างกายไว้ได้ดีกว่าคนอื่นๆ

นักวิจัยผู้นี้และเพื่อนร่วมงานที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย Rush ในนครชิคาโก ได้ดำเนินการประเมินความมุ่งหมายของชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ 900 คน คนกลุ่มนี้มีอายุโดยเฉลี่ย 80 ปี

นอกจากจะต้องแสดงความคิดเห็น ต่อข้อความในแบบสอบถาม อย่างเช่น “ข้าพเจ้ามีความรู้สึกดีเมื่อคิดถึงสิ่งที่ได้ทำในอดีต และที่หวังว่าจะได้ทำในอนาคต” แล้ว ยังมีการตรวจสุขภาพอาสาสมัครสูงอายุเหล่านี้ เพื่อดูว่ามีอาการของโรค Alzheimer’s และโรคจิตเสื่อมหรือ Dementia หรือไม่เป็นประจำทุกปี

นักวิจัย Aron Buchman พูดถึงผลการวิจัยนี้ว่า ผู้ที่มีความมุ่งหมายในชีวิตอย่างสูงตั้งแต่เริ่มต้นงานวิจัยมีความเสี่ยง ที่จะเกิดอาการโรคสมองเสื่อมน้อยกว่า ผู้ที่มีความมุ่งหมายในชีวิตต่ำกว่า ถึงสองเท่าครึ่ง ทำให้ดูเหมือนว่าการมีความมุ่งหมายในชีวิตสูง มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้เมื่ออายุสูงขึ้น

นักประสาทวิทยาผู้นี้สรุปว่า วิธีหนึ่งที่จะป้องกันอาการโรค Alzheimer’s และโรคจิตเสื่อมน่าจะเป็นการทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่า ตนมีความมุ่งหมายในชีวิต ซึ่งอาจจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุไปทำงานเป็นอาสาสมัคร ไม่อยู่เฉยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยบำรุงสุขภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจในขณะนี้เท่านั้น แต่ยังจะทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ มีส่วนร่วมและแข็งขันต่อไปในอนาคตได้ด้วย


XS
SM
MD
LG