ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราสตรี ในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา


ในวาระที่วันสตรีสากลเวียนมาบรรจบครบรอบปีที่ 100 องค์การนิรโทษกรรมสากล ซึ่งสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนนั้นกล่าวว่า สตรีผู้โดนข่มขืนกระทำชำเรา ตามประเทศที่ร่ำรวย และที่ยากจนไม่มีทางเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

คุณวิดนีย์ บราวน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมาย และนโยบายระหว่างประเทศ แห่งองค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวไว้ตอนนี้ว่า "เราต้องการสาธิตให้เห็นว่า ตามความเป็นจริงแล้ว ประเด็นปัญหาที่เรากล่าวว่า บรรดาสตรีกำลังประสบนั้น สตรีเหล่านั้นกำลังประสบในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่ได้ชื่อว่า มีความเสมอภาคด้านเพศมากทีเดียว"

ในรายงานผลของการศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับเรื่องการข่มขืนกระทำชำเราในเขมรฉบับหนึ่ง และอีกฉบับหนึ่ง เป็นรายงานผลของการศึกษาค้นคว้าในเรื่องเดียวกัน ในเดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดนนั้นองค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า ถึงแม้ระบบกฎหมายในแต่ละประเทศ ที่ระบุชื่อไว้ข้างต้นนี้จะแตกต่างกันอย่างมากมาย แต่ทว่าแต่ละระบบมีช่องโหว่ที่ทำให้สตรี และเด็กหญิงไม่กล้าแสวงหากระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ดำเนินการลงโทษ การก่ออาชญากรรมทางเพศต่อพวกเธอ องค์การที่ว่านี้กล่าวว่า สตรีผู้นำความไปแจ้งตำรวจว่า ตนถูกข่มขืนกระทำชำเราเท่านั้น มีโอกาสน้อยมากที่จะมีการพิจารณาคดี ที่เธอเป็นผู้เสียหายนี้ในศาล และว่าการใช้ความรุนแรงจะเป็นตัววัดความรุนแรง ของการข่มขืนกระทำชำเรา หาใช่วัดด้วยเรื่องที่เป็นการละเมิดสิทธิด้านเพศของสตรีไม่

ทางเขมรนั้น สถิติของทางการแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่โดนข่มขืนกระทำชำเรามีจำนวนมากขึ้น แต่องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่า การขาดการติดตามสอดส่อง และการรายงานทำให้ไม่ทราบว่า เรื่องดังกล่าวเกิดเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน อีกทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวง และการเลือกปฏิบัติภายในวงการตำรวจ และศาลขัดขวางมิให้ผู้ที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ได้รับความยุติธรรม

คุณวิดนีย์ บราวน์กล่าวว่า รายงานทั้งสองฉบับแสดงให้เห็นว่า เรื่องการข่มขืนกระทำชำเรานี้ เป็นปัญหาใหญ่ทั้งในบริเวณที่มีการสู้รบกัน และบริเวณที่สถานการณ์เป็นปรกติ แต่ไม่ถือว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องร้ายแรง

คุณวิดนีย์ บราวน์กล่าวว่า การศึกษาค้นคว้าขององค์การนิรโทษกรรมสากล แสดงให้เห็นว่า การใช้การข่มขืนกระทำชำเรา เป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่งในการสู้รบยังมิได้ส่อแสดงว่า จะลดน้อยลงไปแต่อย่างใด

เธอกล่าวต่อไปว่า ในรอบสิบเจ็ดปีที่ผ่านมา มีการปฏิรูปกฎหมายซึ่งบ่งชัดว่า การข่มขืนกระทำชำเราเป็นอาชญากรรม แต่เรื่องที่ต้องขวนขวายกันต่อไป ก็คือทำให้แน่ใจได้ว่า มีการนำกฎหมายเหล่านั้นไปปฏิบัติให้เป็นผล

ปีนี้เป็นปีที่วันสตรีสากล ซึ่งได้รับการเสนอเมื่อปีพุทธศักราช 2453 และสหประชาชาติอนุมัติอย่างเป็นทางการ ในปีพุทธศักราช 2518นั้นใช้มาครบหนึ่งร้อยปี

วันสตรีสากลนี้ เป็นวันหยุดทางราชการในสิบห้าประเทศรวมทั้งจีน ยูเครน และเวียดนาม



XS
SM
MD
LG