ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มาเลเซียกำลังสนับสนุนโครงร่างเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนา


รัฐบาลประเทศต่างๆ รวมทั้งมาเลเซียตระหนักดีว่า การจะฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้นั้น ต้องใช้การพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจ แทนภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิม ที่ถูกคุกคามแข่งขันจากประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า

โดยขณะนี้ มาเลเซียกำลังสนับสนุนโครงร่างเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนา รวมทั้งเพิ่มการลงทุนในสินค้า ที่ใช้เทคโนโลยีและแรงงานมีฝีมือระดับสูงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บรรดานักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า มาเลเซียยังคงตามหลังประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ในเอเชียอยู่มาก เนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลเอง และการแข่งขันจากประเทศต่างๆ

สารซิลิคอนไดออกไซด์ คือส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์หลายประเภท ตั้งแต่ปูนซีเมนต์ไปจนถึงฉนวนกันความร้อน ซึ่งการผลิตสารซิลิคอนไดออกไซด์ได้เอง ด้วยต้นทุนราคาถูกจากผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น คือตัวอย่างหนึ่งแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมของมาเลเซีย เพื่อแข่งขันในตลาดโลก

คุณ Halimaton Hamden ศาสตราจารย์ด้านนาโนเทคโนโลยี แห่งมหาวิทยาลัยด้านเทคนิคมาเลเซียกล่าวว่า นี่คือตัวอย่างของการเพิ่มความได้เปรียบ และการลดต้นทุนในเวลาเดียวกัน ซึ่งในที่สุดจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และไม่สิ่งแวดล้อม

ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์อย่างคุณ Yeah Kim Leng ระบุว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในอดีต ที่ส่งผลให้มีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นจำนวนมากนั้น ได้ถูกคุกคามจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการแข่งขันจากประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่า เช่นเวียดนามและกัมพูชา ดังนั้นเพื่อการอยู่รอดและเติบโตในอนาคต มาเลเซียต้องเดินทางแนวทาง ของประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ไต้หวันและเกาหลีใต้

คุณ Leng ชี้ว่าประเทศเหล่านั้นลงทุนอย่างสูงในด้านทรัพยากรบุคคล เป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิดโอกาสและยกย่องผู้ที่สามารถสร้างความสำเร็จได้ด้วยตนเอง จึงส่งผลให้นโยบายของรัฐบาลประเทศเหล่านั้น มุ่งเน้นไปที่ด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี

สำหรับมาเลเซียนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้พยายามลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาในภาคเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างทันสมัย ระบบการสื่อสารโทรคมนาคมความเร็วสูง และระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ซึ่งเริ่มแสดงผลออกมาบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนยังเชื่อว่า ภาคเอกชนของมาเลเซียยังคงล้าหลังในการนำนวัตกรรมเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อยู่พอสมควร

ในขณะเดียวกัน สิ่งท้าทายสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ของมาเลเซียคือนโยบายด้านเชื้อชาติ โดยเฉพาะการให้สิทธิพิเศษต่างๆ แก่คนเชื้อสายมาเลย์ เช่นการกำหนดให้บริษัทต่างๆจ้างพนักงานเชื้อสายมาเลย์อย่างน้อย 30% ซึ่งแต่เดิมนั้นนโยบายดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างทางชนชั้นระหว่างคนร่ำรวยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีน กับคนยากจนที่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาเลย์ แต่นักเศรษฐศาสตร์ Leng บอกว่านโยบายที่เคยใช้ได้ผลในอดีตนี้ ปัจจุบันกลับทำให้มาเลเซียมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจลดลง

นักเศรษฐศาสตร์มาเลเซียผู้นี้ยังบอกด้วยว่า ในระยะยาว ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีจะช่วยสร้างโอกาสด้านการจ้างงานใหม่ๆ มากขึ้น และการจัดสรรโอกาสอย่างเท่าเทียม จะช่วยให้ประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ อย่างมาเลเซียสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันขึ้นมาได้ ผ่านทางการเชื่อมโยงด้านภาษา และวัฒนธรรมระหว่างคนเชื้อสายจีนและเชื้อสายอินเดียที่เป็นชนกลุ่มน้อยในมาเลเซีย กับประชาชนในอีก 2 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียในปัจจุบัน



XS
SM
MD
LG