ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยชี้ ความกลัวที่มีต่อแมงมุม สามารถถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกได้


การจัดอันดับความกลัวของมนุษย์ชี้ว่า งูจัดเป็นอันดับ 1 ที่มนุษย์กลัวมากที่สุ รองลงมาอันดับ 2 คือแมงมุม ทำไมถึงเป็นแมงมุม และความกลัวจากแมงมุมนี้ ว่ากันว่าถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกได้ด้วย

นักวิจัยที่อยากรู้ว่าความกลัวที่ว่านี้ โดยเฉพาะความกลัวงู และแมงมุม ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้หรือไม่ จึงจับจิ้งหรีดที่มีท้อง เข้าไว้ในตู้ร่วมกับแมงมุม ที่ล่าจิ้งหรีดเป็นพิเศษ แมงมุมชนิดนี้เรียกกันว่า Wolf Spider แต่นักวิจัยใช้ขี้ผึ้งหุ้มเขี้ยวแมงมุมไว้ เป็นการป้องกันภัยให้จิ้งหรีด เมื่อแม่จิ้งหรีดวางไข่ และมีจิ้งหรีดออกมาเป็นตัวแล้ว นักวิจัยเปรียบเทียบจิ้งหรีดที่แม่เคยอยู่ร่วมตู้กับแมงมุม กับที่แม่ไม่เคยพบเห็นแมงมุม ปรากฏว่าจิ้งหรีดเกิดใหม่ ที่แม่เคยอยู่ร่วมตู้กับแมงมุม มีโอกาสที่จะวิ่งหาที่หลบภัย และไม่ออกมาเพ่นพ่าน มากกว่าจิ้งหรีดที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ถึง 113 เปอร์เซนต์ และไม่ต้องเห็นตัวแมงมุมด้วยซ้ำไป แค่เห็นใย หรือมูลแมงมุม จิ้งหรีดเหล่านี้ก็มักจะทำตัวนิ่ง ไม่ขยับเขยื้อน เพื่อไม่ให้แมงมุมพบเห็น เรียกว่ารู้เอาตัวรอดเป็นยอดดี

นักวิจัยสรุปว่า พฤติกรรมของจิ้งหรีด ที่มากจากแม่ ที่เคยอยู่ร่วมตู้กับแมงมุมนั้น แสดงให้เห็นว่า มีการถ่ายทอดความกลัวจากแม่สู่ลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง กลไกของการถ่ายทอดนั้น นักวิจัยยังไม่แน่ใจนักว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร คาดเดาแต่ว่า เมื่อเกิดเหตุที่ทำให้เกิดความตึงเครียด แม่จะปล่อยฮอร์โมนออกมา ซึ่งมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของตัวอ่อนในท้อง หรือในไข่ได้ ทำให้สงสัยในกรณีของมนุษย์ว่า มีโอกาสผลักภาระ กล่าวโทษคุณพ่อ สำหรับการถ่ายทอดความกลัวในลักษณะนี้ได้บ้างหรือไม่


XS
SM
MD
LG