รายงานล่าสุดโดยสำนักข่าว Thomson Reuters ชี้ว่า รัสเซียกำลังสูญเสียแรงจูงใจ ในการดึงดูดบุคลากร ทางด้านวิทยาศาสตร์ และอุตสากรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาสมองไหล ซึ่งยิ่งส่งให้การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ ด้านวิทยาศาสตร์ ยิ่งรุนแรงขึ้น
รายงานของ Thomson Reuters ระบุว่า ขณะนี้วงการวิทยาศาสตร์รัสเซีย กำลังประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณ นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 ปัจจุบันเงินทุนเพื่อการวิจัยของสถาบันวิจัยสำคัญๆ ของรัสเซียมีสัดส่วนไม่ถึง 5% เมื่อเทียบกับเงินลงทุนด้านการวิจัยในสหรัฐ
เมื่อเดือนธันวาคม ประธานาธิบดีรัสเซีย ดิมิทริ เมดเวเยฟ วิพากษ์วิจารณ์บริษัท Rosneft ของรัฐบาลรัสเซียซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เกี่ยวกับเรื่องที่ Rosneft ลงทุนเพียง 0.015% ของรายได้ทั้งหมด กับการวิจัยและพัฒนา
ประธานาธิบดีเมดเวเยฟกล่าวว่า ต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิด และปรัชญาการทำธุรกิจเสียใหม่ และกระตุ้นให้ชาวรัสเซีย หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน รัสเซียประสบปัญหาสมองไหลมาตั้งแต่ปี 1991 โดยรายงานของ Thomson Reuters ชี้ว่า นักวิทยาศาสตร์รัสเซียราว 8 หมื่นคน เดินทางไปทำงานยังประเทศอื่น เพื่อรับเงินเดือนและเงินทุนที่สูงกว่า รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆที่ดีกว่าในรัสเซีย คุณ Mikhail Delyagin ผอ. สถาบันวิจัยปัญหาด้านโลกาภิวัฒน์ในกรุงมอสโคว์ ระบุว่า ทั้งสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี ระบบการบริหารงานของรัฐบาลที่คร่ำครึ และล้าสมัย ล้วนเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดปัญหาสมองไหลมากขึ้น
คุณ Delyagin กล่าวว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่เขาทำงานด้วย ต่างรู้สึกว่าตนเป็นทาส ที่ทำงานให้กับคนที่ไม่สนใจและไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และว่าการบริหารจัดการของสถาบันต่างๆ ยังคงล้าหลังอย่างน้อย 10-20 ปี
ทางด้านคุณพาเวล เฟลเกนฮาวเออร์ นักวิเคราะห์ด้านการทหารในรัสเซีย ระบุว่านักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับรัฐบาลรัสเซีย ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 50 ปี ในขณะที่คนรุ่นใหม่ๆ ต่างพากันหางานที่เงินเดือนสูงกว่า นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ ในรัสเซียยังไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศีกษารุ่นใหม่ๆ ได้ดีพอ
ประธานาธิบดีเมดเวเยฟเคยแนะนำว่า รัสเซียควรดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติ ให้มาฟื้นฟูวงการวิทยาศาสตร์รัสเซียบ้าง แต่คุณ Mikhail Delyagin บอกว่าผู้เชี่ยวชาญต่างชาตินั้น อาจส่งผลลบต่อผลประโยชน์ในด้านน้ำมันของรัสเซียเอง
นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้เห็นว่า รัสเซียไม่ได้ต้องการผู้เชี่ยวชาญ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพหรือด้านการประหยัดพลังงาน เพราะการดึงคนเหล่านั้นเข้ามา หมายถึงความขัดแย้ง กับระบบการผูกขาดด้านพลังงานของรัสเซีย เนื่องจากการประหยัดพลังงาน ก็คือกำไรด้านพลังงานที่ลดลงนั่นเอง ในขณะเดียวกันคุณ Mikhail Khodorkovsky นักวิจารณ์อีกผู้หนึ่ง และอดีตผู้บริหารของบริษัทน้ำมัน Yukos ให้ความเห็นว่า ความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในรัสเซียกำลังลดลง ในทางกลับกัน ความกระหายในวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าและการคอร์รับชั่นกลับเพิ่มสูงขึ้น