แผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศเฮติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกาะในแถบทะเลคาริบเบียนเมื่อวันอังคาร ยังความเสียหายอย่างกว้างขวาง และมีคนเสียชีวิตบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
เมื่อเทียบกับบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง อย่างในแถบมหาสมุทรแปซิฟิคแล้ว แถบทะเลคาริบเบียน นับว่าเป็นภูมิประเทศที่ค่อนข้างสงบ
อย่างไรก็ตาม บริเวณนี้เป็นแนวที่แผ่นชั้นหินเปลือกโลกบรรจบกัน หรือเกยกันและเคยมีประวัติว่าเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ และภูเขาไฟระเบิดมาก่อน
ในปี 2489 หรือ ราว 63 ปีมาแล้ว สาธารณรัฐโดมินิกัน ซึ่งอยู่ติดเฮติทางด้านตะวันออกของเกาะเดียวกัน เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงระดับ 8 ตามมาตรริคเตอร์ ซึ่งทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ และแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆ อื่นๆ ในศตวรรษที่ 17, 18 และ 19 ในบริเวณนั้น ก็อาจมีสาเหตุจากการขยับเขยื้อน ของแนวแผ่นชั้นหินเปลือกโลกเดียวกัน กับที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวในเฮติในวันอังคารที่ผ่านมา
โดยทั่วไปแล้ว แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อแผ่นชั้นหินเปลือกโลก ขยับเขยื้อนอย่างทันทีทันใด ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การขยับเขยื้อนกระทันหันเช่นนั้น อาจเกิดขึ้น หลังจากการมีความเค้นตึงตัวที่สะสมขึ้นมาเรื่อยๆ จากการเบียดเสียดของแผ่นชั้นหินที่อยู่ติดกัน
อาจารย์ทางธรณีฟิสิคส์ Eric Calais ที่มหาวิทยาลัย Purdue อธิบายว่า ในกรณีที่แนวแผ่นชั้นหินเปลือกโลก ที่เกิดความเค้นตึงตัวในอัตราปีละ 7.7 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นกรณีแบบเดียวกัน กับที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวในเฮติครั้งนี้ และแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งก่อน บนแนวแผ่นชั้นหินนี้เกิดขึ้นเมื่อ 250 ปีมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ ถ้าแนวแผ่นชั้นหินนั้นเกิดแตกหักฉับพลัน ก็จะแตกหักราว 1.7 เมตร ซึ่งจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงระดับ 7
นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า การขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ ของแผ่นชั้นหินเปลือกโลกทำให้เกิดพลังงาน ที่เป็นสาเหตุของการพังทะลายของชั้นหิน และความเสียหายจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
Stuart Sipkin ผู้เชี่ยวชาญด้านปรากฏการณ์แผ่นดินไหว ที่สำนักงานธรณีวิทยาสหรัฐกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญคือ ขนาดของแผ่นดินไหว แล้วก็ความลึกของศูนย์กลางแผ่นดินไหว ซึ่งยิ่งอยู่ลึกเพียงใด พลังงานที่เกิดขึ้นจะจางลงมากเท่านั้น หรือแผ่กระจายตัวออกไป ลดความรุนแรงลงขณะที่ผุดขึ้นมาบนพื้นผิว แต่ถ้าหากศูนย์กลางแผ่นดินไหว อยู่ตื้นขึ้นมามากเท่าใด ก็มักจะก่อให้เกิดวินาศภัยร้ายแรงขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดใกล้บริเวณที่คนอยู่อาศัยหนาแน่น อย่างที่เกิดในเฮติ
ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ที่ยังภัยภิบัติร้ายแรงในเฮติในวันอังคารนั้น อยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวโลกราว 10 กิโลเมตร และห่างจากกรุง Port au Prince เพียง 15 กิโลเมตร และเกิดความสั่นสะเทือนตามมาหลายละลอก
นักธรณีวิทยา Stuart อธิบายว่า ความสั่นสะเทือนหลังแผ่นดินไหว จะมีขึ้นค่อนข้างใหญ่โตและบ่อย แล้วจะค่อยๆ เบาบางลง แม้ว่าจะยังคงมีความสั่นสะเทือนอยู่อีกหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน แต่ขนาดและความรุนแรงและความถี่จะค่อยๆ ลดลง แม้กระนั้นก็ยังรุนแรงพอ ที่จะเป็นเรื่องน่าวิตก และเป็นอุปสรรคต่อการพยายามช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ได้ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ความสั่นสะเทือนหลังแผ่นดินไหวความรุนแรงระดับ 5 สามารถก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มได้ รวมทั้งอาคารบ้านเรือน ที่อ่อนแออยู่แล้วเนื่องจากแผ่นดินไหวนั้น